เมษายน 20, 2024

เมืองฉะดอทคอม>MUANGCHA.COM

โน่นนิดนี่หน่อยค่อยเป็นค่อยไป

ผู้คน

….จากท่าเรือจ้างถึงท่าหลวง จากปากซอยกระจ่างไปจนยันสุดซอย มีผู้คนมากมายแต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมตั้งแต่ครั้งยังเด็กจวบจนปัจจุบัน  (มีบ้างที่ไม่ได้อยู่ในแต่ละอาณาเขตที่ผมกล่าวถึง) ซึ่งผมก็เชื่อว่าไม่ใช่แค่เด็กน้อยอย่างผมรอกที่ท่านได้เข้ามาอยู่ในห้วงความคิดคำนึง แต่ท่านได้อยู่ในความทรงจำของคนอื่นๆด้วย ด้วยคุณงามความดี ด้วยชื่อเสียง ด้วยฐานะและการปฏิบัติตัว ด้วยน้ำใจ ด้วยเมตตา ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผมท่านคือความงดงามในชีวิตของผมตลอดมา…..

ตาอ๋ายายพร

เมื่อเลี้ยวซ้ายออกจากซอยกระจ่าง จะมีตรอกเล็กๆขวามืออยู่ เมื่อเดินเข้าไปขวามือจะมีเก่าๆอยู่สองหลัง หลังแรกเป็นเจ้บุงมีอาชีพสารพัดแม้แต่เก็บของเก่าขายลูกชายชื่อไหจั๊วกับไหตือ ต่อมาเป็นบ้านของวันชัย แซ่จึง พ่อเขาขายข้าวต้มกุ๊ย ตรงข้ามจะเป็นตึกเก่าสองชั้น น่ากลัวสุดๆเป็นตึกของคุณยายละมัย แกเอาเก็บกก เก็บนุ่น แม้จะน่ากลัวในตอนกลางคืนเพราะกระสอบใส่นุ่นที่แขวนโตงเตงอยู่ชั้นสองนั้นจะเหมือนคนผูกคอตาย แต่ตอนกลางวันถ้าคุณยายแกให้คนมาเปิดเมื่อไหร่ เป็นต้องเข้าไปกระโดดเล่นบนกองกกที่ถูกมัดไว้เหมือนต้นเสาใหญ่ วางเรียงกันมากมาย มันสนุกแล้วแค่นั้น เมื่อสุดซอย ซ้ายมือจะเป็นบ้านลุงหวังแกมีอาชีพเคี่ยวน้ำมันหมูขาย พอแกออกไปน้าเหลาก็มาเช่าอยู่ น้าเหลามีอาชีพทำขนมขายก็พวกขนมครองแครงอะไรประมาณนี้ บ้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยน คนจะอยู่ไม่ค่อยทน ด้วยว่ามีบาตรแตกใบใหญ่อยู่ใต้บ้าน ตรงไปสุดทางคือคลองเราก็ต้องเลี้ยวขวา ซึ่งเป็นลานดินประมาณสัก2×5เมตรได้มั้ง ลานดินนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นที่สูบกัญชาของมวลหมู่เสรีชน สมัยก่อนถ้าเป็นผู้ใหญ่จะดูดบ้อง แล้วก็จะมีพวกเด็กประมาณม.สี่ม.ห้าสมัยนี้พวกนี้จะมวนใส่บุหรี่ดูด ลานนี้เป็นของพวกผู้ใหญ่ ขาประจำก็จะเป็นเหียภุชงค์ เหียยุ่น เหียหนู  เมื่อเดินเลยไปเราจะเห็นบ้านใหญ่สองหลังถูกคั่นด้วยสะพานไม้กระดานกว้างประมาณสองเมตร ที่เห็นตรงหน้าคือส้วม จริงๆมันเป็นส้วมของบ้านซ้ายมือ เดิมทีเป็นของลุงหงวน(สงวน ชีพสมุทร)กับป้าตุ๊ ก่อนจะย้ายไปซื้อบ้านอยู่แถวซอยศรีจันทร์ (ซอยศรีจันทร์ทั้งหมดทุกซอยก็คือเมื่อสุดซอยกระจ่างก็จะเจอสี่แยกสะพานตรีรัตน์ เราข้ามถนนไปก็จะเจอซอยศรีจันทร์มากมายเรียงรายกัน) แล้วลุงจี๊ดกับน้าตุ๊กก็มาเช่าต่อโดยมีเพื่อนคือเหียนัด ลุงจี๊ดกับน้าตุ๊กก็ย้ายไปซอยกระจ่างเท่าไหร่นี่แหละ ก็เลยเหลือเหียนัดกับน้าสมบูรณ์ กับลุงคุ้นที่นอนติดเตียงอยู่ตรงห้องทางเดิน พอเหียนัดย้ายออกไปซื้อบ้านที่หมู่บ้านไชยยันต์ ก็จบบ้านเช่าของคนทำพลลอย เพราะคนที่ย้ายมาใหม่คือตาหลองแกมีอาชีพขายข้าวต้มเครื่องตอนเช้ามืดที่ตลาดวัดสวนมะม่วง  ความแปลกของบ้านหลังนี้ซึ่งมีใต้ถุนสูงคือ ตรงใต้ถุนกลางบ้านนั้น มีบันไดซีเมนต์ ประมาณสามขั้น กว้างประมาณวานึง ยาวประมาณสองวา ความสูงประมาณเอวผู้ใหญ่ วางเอียงกะเท่เร่อยู่โดยไม่มีใครรู้ที่มาว่ามีมายังไง และบ้านขวามือนี่แหละคือบ้านของ ตาอ๋ายายพร  ที่ขยายความซะเอียดจริงๆแล้วอยากให้เห็นวิถีบ้านเช่าสมัยก่อน บ้านติดกันไม่ได้มีรั้วกั้น เดินทะลุถึงกันได้เลย ไม่มีรั้วไม่ว่าแถมมีส้วมอยู่ข้างๆบ้านเพื่อนบ้านซะอีก แล้วไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกัน มีอะไรก็ปันแบ่งกัน บ้านทำพลอยมีบ้างที่บางครั้งทำงานกันยันสว่าง (สมัยก่อนทำพลอยกันถึงคืนวันศุกร์ เสาร์อาทิตย์หยุดถ้าใครทำไม่ทันก็ต้องนั่งปั่นกันจนถึงเช้าเพื่อส่งพลอยที่เจียระนัยแล้วให้ทัน เพราะพลอยจะต้องขายวันเสาร์อาทิตย์ตอนสายๆประมาณแปดโมงครึ่งเก้าโมงเพราะมีแดดดูพลอยแล้ว) ถ้าทำงานกันเสร็จทัน ก็จะเป็นวงเหล้า วงไพ่ ซึ่งไม่ว่าจะทำอะไร มันก็มีเสียงรบกวน ส่วนบ้านตาอ๋ายายพร ค้าผลไม้ ยายพรตื่นแต่เช้าไปตลาด ตาอ๋าตื่นสายหน่อยเพื่อไปสวนโดยหนีบยายพรไปเป็นผู้ช่วยด้วย แต่คนย่านนั้นก็ไม่เคยได้ยินข่าวว่าสองบ้านนี้ทะเลาะกันเลย 

บ้านที่ตาอ๋ายายพรอยู่ เดิมที่เป็นของหลวงนายก สุนทรจามร เช่ายายกิมอี้อยู่ตั้งแต่ค่าเช่าเดือนละหกสลึง (คนสมัยนี้เรียกหนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ ยาวมากนิ) ตาอ๋าเป็นลูกชายคนโตของเจ๊กโกปี๊ผู้โด่งดังย่านท่าหลวง ส่วนยายพรมาจากพิจิตร ระหกระเหินมาเรื่อยจนมาถึงจันทบูรณ์ มาเป็นคนใช้ของท่านหลวงนายก แล้วท่านก็เมตตารับเป็นลูกเลี้ยงและให้ใช้นามสกุลสุนทรจามร ซึ่งเป็นนามสกุลของท่าน ตาอ๋ามาปิ๊งเพื่อนยายพร แต่เพื่อนยายพรไม่ชอบตาอ๋า แกเลยหันหัวเรือมาทางยายพร แล้วขอยายพรแต่งงานซะเลย ยายพรเล่าให้ฟังว่า ตอนตาอ๋ามาขอแต่งงานกับยายพร ตาอ๋าไม่มีเงิน จนเกือบถึงวันแต่งงาน โชคเป็นของตาอ๋าหรือยายพรไม่รู้ ตาอ๋าถูกลอตเตอรี่ เลยมีเงินจัดงานแต่งได้สำเร็จ ตาอ๋าทำสารพัดอาชีพตั้งแต่ยังเป็นเด็ก พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แกขับรถบบรทุก บรรทุกของเข้ากรุงเทพ ขับเรือยนต์ จนมาเริ่มซื้อขายยางแผ่น (ประมาณปี2512มั้ง) แกจะไปหาซื้อแถวกะทิงแล้วก็บรรทุกใส่หลังรถมอเตอร์ไซค์MZ นำมาขายแถวท่าหลวงใกล้ๆร้านกาแฟป้าตุ๊ พอไม่มียางแกก็ซื้อพวกผลไม้มาขายเท่าที่ทำได้ แล้วแกก็มาซื้อรถจิ๊ปWILLYคันยักษ์(รถรุ่นนี้ส่วนหัวเล็กกว่าส่วนท้าย)ต่อจากหนึ่งในสามลุงผมไม่แน่ใจว่าเป็นลุงติ๊ด ลุงฟลุ๊คหรือลุงสุย ในราคาสองหมื่นบาท แล้วแกก็กลายเป็นซูเปอร์อ๋าไปในบัดดล เพราะแกจะหนีบยายพรไปกับแก แล้วออกเหมาทุเรียนย่านกะทิง หนองบัว โดยมีย่งเส่งล้งเป็นนายทุนให้แก ตัดทุเรียนมาแกก็จะเอาไปส่งที่เจริญบุญโภคขนส่ง หรือไม่ก็โชคนิมิตขนส่งปลายทางก็คือย่งเส่งล้งกรุงเทพ  หมดหน้าทุเรียนแกก็จะค้าระกำ ส้ม เงาะ วนไปเรื่อยจนมาจบหน้าทุเรียนอีกครั้งนึง 

ตาอ๋าเป็นที่รู้จักของคนย่านท่าหลวงเป็นอย่างดี ด้วยความที่แกเป็นลูกชายคนโตของเจ๊กโกปี๊และค้าขายกับคนย่านนั้น ส่วนท่าเรือจ้างนั้นส่วนใหญ่รู้จักตาอ๋า ด้วยความที่เช้าขึ้นมาแกก็ไปนั่งกินโอยั๊วะที่ร้านโอชา พูดคุยกับพวกเพื่อนด้วยเสียงดังโขมงโฉงเฉง ทุกวันจนถึงประมาณแปดโมงแกถึงจะเข้าสวนกับยายพร บางวันที่แกหยุดแกก็จะเพิ่มรอบบ่ายหรือรอบเย็นเข้าไปด้วย วงสนทนาของแกก็มักจะเป็นกู๋ตี๋ ลุงการ์ด ตาลิ้ง เหียจันทร์ ลุงฟลุ๊ค ลุงสุยบ้าง วนๆกันไป แต่จริงๆแล้วที่คนแถวนั้นชมชอบแกก็เพราะว่าแกชอบช่วยเหลือคน ใครมาขอให้แกช่วยแกไม่เคยปฏิเสธ ขนของ ย้ายบ้าน ไปส่งโรงพยาบาล พวกวัยรุ่นใครโดนจับมาแกก็วิ่งไปประกันตัวให้หมด แกทำโดยที่ไม่เคยขออะไรตอบแทน ไม่เคยทวงบุญคุณใคร ความมีน้ำใจของแกก็เลยทำให้แกเป็นขวัญใจของมวลชนไปบวกกับความใจดีของยายพร บ้านแกก็เลยกลายเป็นที่อยู่ของใครหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นน้าราไวยพระเอกลิเกวิกศาลเจ้าพ่อสระบาป น้าแอ่ดนักมวย เหียอู้ผู้มายังไงไม่รู้ รู้แต่ว่ามาจากพัทยาแล้วก็เมามานอนค้างที่บ้านแก แล้วก็ไม่ไปไหนมาอยูู่่กับแกเลย นอกนั้นก็เวียนไปเวียนเวียนมา แกก็ไม่เคยว่าอะไร อยู่ได้ก็อยู่ไม่เคยเก็บค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ นอกจากท่าเรือจ้างและท่าหลวงแล้ว ซอยกระจ่างตาอ๋าก็เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะว่า ถ้ากลับมาจากสวนทุเรียนเร็ว เสร็จภารกิจจาการกินโอยั๊วะที่ร้านโอชาแล้ว แกก็จะตรงดิ่งเข้าซอยกระจ่าง จุดหมายคือบ้านหัวมุมปากทางซอยกระจ่างหนึ่ง ซึ่งเป็นบ้านของเจ้สัมพันธ์ เพื่อเข้าสู่สมรภูมิไพ่นกกระจอก อันเป็นการพนันชนิดที่สองที่แกเล่นนอกจากซื้อลอตเตอรี่ 

ช่วงประมาณปี2518-2519 ตาอ๋าเริ่มเป็นนักเสี่ยงโชคเหมือนคนอีกหลายต่อหลายคน นั่นคือแกเริ่มแสวงโชคด้วยการขุดพลอย ที่แรกที่แกไปนั่นคือหนองบอน สมัยนั้นต้องไปจองที่ไว้น่าจะกว้างประมาณวานึงรอบรัศมี แล้วก็จ้างคนขุดลงไป เอาดินขึ้นมาแล้วก็ใส่ตะแกรงร่อน ตาอ๋าจะมีความสุขมากถ้าได้เห็นพลอยซึ่งทุกครั้งมันก็จะเป็นเศษเล็กเศษน้อย แต่แกก็ปลาบปลื้มของแก แล้วตาอ๋าก็เริ่มมีชื่อเสียงกระฉ่อนในวงการพลอย เมื่ออู่สงัดการช่างคิดค้นเครื่องร่อนและเก็บพลอยได้ ฃึ่งเรียกว่า แย๊ก ไหนๆก็จะขยายความเรื่องแย๊กให้ฟังแล้ว ก็ขอเล่าเรื่องการทำพลอย ทำเหมืองพลอย ให้ฟังคร่าวๆซะเลยดีกว่า

การทำพลอยสมัยก่อนซึ่งผมได้เห็นก็ช่วงราวปี2518หรือ2519 นี่แหละ ซึ่งที่แรกที่ผมได้เห็นก็คือที่หนองบอน  เดิมทีเลยก็คือจับจองพื้นที่ถ้าพวกนักแสวงโชคที่ทุนน้อย ก็จะใช้วิธีจองที่(ซื้อสิทธิ์) แล้วก็จ้างคนขุดลงไปเหมือนบ่อน้ำ จนไปเจอกับแร่สีดำๆ แล้วทีนี้ก็จะเริ่มขุดเป็นแนวขนานกับพื้นดิน อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆก็คือ ขุดเป็นตัวL แร่สีดำๆที่เจอเขาจะถือว่าเป็นสายแร่ ซึ่งจะนำไปสู่แหล่งพลอย พลอยที่ขุดที่หนองบอนนั้นพลอยที่ได้จะเป็นพลอยแดงกับโกเมน การขุดพลอยสมัยนั้น คนขุดจะเอากระแป๋ง(กระป๋อง)เหล็ก ผูกเชือกแล้วก็ขุดดินใส่ คนข้างบนก็ดึงขึ้นแล้วเอามาใส่กระจาดที่สานด้วยไม้ไผ่(กระจาดตากปลาเค็มนั่นแหละ) แล้วก็เอาไปร่อนที่แม่น้ำ บางคนก็เอาเครื่องสูบน้ำมา สูบน้ำจากคลองหนองบอนแล้วก็ฉีดหาที่ใกล้ปากหลุมเลยก็มี คนที่ขุดก็จะได้ค่าจ้างเป็นเงินรายวัน บางครั้งโชคดีเจอพลอยหน้าดินเม็ดใหญ่ ดูจนแน่ใจว่าเป็นพลอยแน่ ก็เช็ดเอาดินออกแล้วเอาใส่ปากอมไว้ จึงเป็นที่มาของคำว่า อมพลอย พลอยที่อมมาเวลาเอาไปขายคนรับซื้อจะรู้ว่าเป็นพลอยที่งุบงิบมา เพราะคนที่ขายนั้นเป็นคนรับจ้างขุด เขาก็จะเรียกพลอยแบบนี้ว่า พลอยบิน แต่การขุดพลอยนั้นก็เต็มไปด้วยอันตราย บางคนดื้อขาดอากาศหายใจโดยที่คนข้างบนไม่รู้ ซึ่งไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ จะเจอก็คือดินถล่มแล้วก็ฝังร่างคนขุดไว้ ซึ่งมีเกิดขึ้นแทบทุกอาทิตย์  ส่วนคนที่มีทุนหนาเงินเยอะ พวกนี้จะขอเช่าที่จากเจ้าของที่ที่อ้างสิทธิ์ครอบครองเป็นแปลงๆไป ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ไกลคลองหรือแหล่งน้ำใหญ่และเป็นภูเขาลูกย่อมๆ การหาพลอยแบบนี้จึงเรียกว่าทำเหมือง(พลอย) โดยวิธีก็คือจะเลือกทำเลที่เนินเขา พอช่วงกลางเนินก็ใช้น้ำฉีดเซาะให้เป็นร่องใหญ่(แรงดันน้ำก็เทียบเท่ากับแรงดันน้ำของรถดับเพลิงหรืออาจจะมากกว่า) ใช้ไม้กระดานตีที่พื้นโดยมีไม้ตีคั่นเป็นช่วง เพื่อเป็นการกรองหินใหญ่ไปในตัว แล้วก็ใช้ไม้ตีทั้งสองด้านของร่อง ร่องไม้กระดานนี้ก็จะไปสิ้นสุดที่ตะแกรงใหญ่ประมาณ2×3เมตรได้มั้ง เมื่อทุกอย่างถูกเตรียมจนครบ ก็ได้เวลาติดเครื่องสูบน้ำกันแล้ว เมื่อเครื่องเดินก็เริ่มฉีดตรงที่ใกล้ร่องนำแร่ ไล่ไปเรื่อยๆ ช่วงนี้ไม่ได้หวังผลอะไร ก็จะฉีดไปดูสายแร่ไป เมื่อเจอสายแร่ก็จะตามสายแร่ซึ่งเป็นการเปิดฉากความหวังของทุกคน การฉีดก็จะฉีดกันถึงดานเลยทีเดียว ดานก็คือดินแข็งๆซึ่งเมื่อถึงชั้นนี้แล้วก็ไม่มีดินให้เห็นอีกแล้ว ทีนี้การฉีดก็จะไล่ขึ้นเนินไปเรื่อยๆ จากภูเขาลูกย่อมๆก็กลายมาเป็นลานที่มีหน้าผาแทน  ซึ่งเมื่อถึงช่วงนี้การฉีดพลอย ก็จะใช้วิธีฉีดน้ำเจาะที่ฐานดินเป็นช่องใหญ่ๆหลายๆช่อง เมื่อเริ่มมีดินร่วงมาจากด้านบนเรื่อยๆ คนฉีดก็จะเริ่มถอย แล้วดินที่ดูเหมือนหน้าผาก็จะถล่มลงมา (บ่อยครั้งที่ถล่มทับคนฉีดตาย) เมื่อได้ดินกองใหญ่ก็จะเริ่มล้างดินโดยการฉีดน้ำไล่ดินไปเรื่อยๆ ดินที่ถูกฉีดก็จะถูกไล่ลงไปยังร่องนำแร่ แล้วก็จะมีอีกคนทีคอยฉีดน้ำไล่ให้ไปลงยังตะแกรงใหญ่ คนที่จะเป็นคนฉีดน้ำได้นี่ต้องมีฝีมือมากในการฉีด เพราะถ้าไม่เข้าใจฉีดสะเปะสะปะไปเรื่อย พลอยที่ควรจะได้ก็จะกระเด็นกระดอนไปหมด เมื่อไล่ดินหมดแล้วจนเห็นดาน และไม่เหลือในร่องนำแร่ ทีนี้ก็จะไปไล่ฉีดในตะแกรงยักษ์กันแล้ว ตรงนี้ก็จะฉีดน้ำไล่จนในตะแกรงจะเหลือเพียงก้อนหิน ขี้แร่ และพลอย การทำเหมืองแบบนี้ เจ้าของเหมืองต้องหูไวตาไว เพราะถ้าเผลอพลอยก็จะมีปีกพร้อมบินได้ทันที ดังนั้นคนที่เป็นเจ้าของเหมืองต้องเทียวไปเทียวมาหรือให้คนที่ไว้ใจได้ขึ้นนอนค้างที่เหมืองเลย อย่าลืมว่าสมัยก่อนไม่มีมือถือ ทุกอย่างต้องคำนวนวันเอาเอง หรือไม่ก็นัดแนะกันล่วงหน้าว่าวันไหนจะทำอะไรบ้าง ด้วยเหตุจึงเป็นที่มาของการคิดค้นอุปกรณ์ทำพลอยที่ชื่อว่า แย๊ก โดยลุงหงัดแห่งสงัดการช่าง แล้วเราก็จะได้คุยกันบอกกันสักทีว่าไอ้เจ้า แย๊ก มันเป็นยังไง 

แต่เดิมเมื่อฉีดดินถล่มลงมาแล้วเราต้องล้างดินเพื่อให้ไหลลงไปในร่องนำแร่ โดยที่ปลายทางก็คือตะแกรงใหญ่ที่รอรับ เจ้าแย๊กนี่แหละที่จะมาแทนตะแกรง ตัวของมันเป็นทรงสี่เหลี่ยมเอียงลาด ด้านในแบ่งเป็นช่องๆกรุด้วยตะแกรงเรียงขนาดจากตาเล็กไปหาตาใหญ่ การทำงานของมันก็คือเป็นที่รับเศษหินดินพลอยเข้าสู่ตัวมัน โดยมีน้ำจากข้างบนไหลลงสู่ตัวมันตลอดเวลา ตัวมันก็จะทำการเขย่าไปเรื่อยๆ โดย หินหรือพลอยที่มีขนาดเล็กก็จะตกอยู่ช่องแรกๆ ส่วนที่ใหญ่กว่าก็จะเลยไปช่องต่อไปเรื่อยๆ  เมื่อมีแย๊กเข้ามาทุกอย่างก็ง่ายและสะดวก เพราะแย๊กด้านบนนั้นจะเป็นแผ่นเหล็กตันปิดเอาไว้พร้อมกับคล้องกุญแจแน่นหนา จึงมีแต่เจ้าของเท่านั้นที่ทำการเปิดได้ เจ้าของเหมืองจึงสบายใจได้ เวลาเปิดแย๊กก็จะโกยด้านบนที่เป็นหินซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพลอย แล้วก็ลุ้นกันว่าด้านล่างสุดนั้นจะเป็นพลอยหรือเศษหิน เป็นพลอยก็ลุ้นต่อว่าเป็นโกเมนหรือพลอยแดง ถ้าเป็นพลอยแดงก็ลุ้นต่อว่ามันจะสะอาดหรือแตกยับเยิน (ผมลองสืบค้นเพื่อหารูปแย๊ก โชคดีได้วิดีโอมาเป็นของเพจ Indystone Jewelry -ต้องขออนุญาตท่านเจ้าของและขอบพระคุณท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ผมไม่ได้เล่นเฟซบุ๊คเลยไม่สามารถเข้าไปขอบคุณท่านที่หน้าเพจได้เดี๋ยวโควิคหายจะลงมาขอบคุณท่านถึงที่บ้านเลยครับ ลองดูกันครับคลิปสั้นๆของแย๊กตัว เป็นๆกันครับhttps://www.facebook.com/indystonejewelry/videos/1820472178244759/?t=5)

เล่ามาตั้งนาน ก็ถึงจุดที่ว่าทำไมคนในวงการพลอยถึงรู้จักตาอ๋า นั่นเป็นเพราะทางที่จะไปเหมืองพลอยแต่ละแห่งนั้น เส้นทางมหาโหดมากๆ ที่ต้องผ่านในแต่ละแห่งนั่นคือภูเขาลูกย่อมๆ ยิ่งหน้าฝนนี่ไม่ต้องพูดถึง ทางขึ้นเขานั้นลื่นมาก อีกทั้งยังร่องอันเกิดจากน้ำฝนกัดเซาะอีกด้วย ทีนี้ทำเหมืองมันก็ต้องใช้น้ำ น้ำก็จะมาตอนหน้าฝน นั่นจึงหนีไม่พ้นว่าถ้าใครต้องการใช้แย๊กจากอู่สงัดก็ต้องใช้บริการของตาอ๋ากับรถจิ๊ปคู่ใจแก นอกนั้นไม่มีทางไปได้ รถจิ๊ปตาอ๋ากระบะท้ายใหญ่พอดีกับความกว้างของแย๊ก เรื่องรับน้ำหนักบรรทุกไม่ต้องพูดถึง รถแกยังมีสองเพลา แถมยังมีเกียร์สโลว์อีกด้วย ด้านหน้าติดวีลตัวเบ้อเร่อ เอาไว้คล้องกับต้นไม้ใหญ่ริมทางเพื่อดึงตัวรถขึ้นเนินเขาในช่วงฝนตก ดังนั้นหน้าฝนซึ่งตาอ๋าตัดทุเรียนไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่แกบรรทุกแย๊กเพื่อไปส่งตามเหมือง จากบ่อไร่ หนองบอน ก็ขยายไปสู่ตกพรม แสงแดง บ่อเวฬุ  สระใหญ่ อีเล็ม เรียกว่าใครจะทุกแย๊กหน้าฝนเป็นต้องถามหาตาอ๋าจองคิวกันให้วุ่นเลย (จริงๆผมก็สงสัยนะว่าที่ไปส่งมันก็เป็นป่าเขาแทบไม่มีบ้านคน โทรศัพท์ก็ไม่มี แล้วแกไปหาแต่ละที่เจอได้ยังไง อีกอย่างการทำเหมืองพลอยนั้น สภาพแวดล้อมมันจะถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้เป็นภูเขาอีกสองวันไปภูเขาหายกลายเป็นหน้าผาไปแทน เมื่อวานเป็นหน้าผาวันนี้กลายเป็นถนนไปซะแล้ว) ตาอ๋าคิวทองก็เลยเป็นที่รู้จักในวงกว้างของคนทำเหมืองพลอย

ขออนุญาตพักเรื่องราวของตาอ๋ายายพรไว้ก่อน ขออนุญาตข้ามไปสู่ท่านอื่นนๆก่อนครับ เพราะเรื่องราวและความทรงที่ผมมีกับบุคคลทั้งสองคนนี้มีมากจริงๆ

…………………………………………………….ยังมีต่อ.…………………….