กรกฎาคม 27, 2024

เมืองฉะดอทคอม>MUANGCHA.COM

โน่นนิดนี่หน่อยค่อยเป็นค่อยไป

อาณาเขต

……..ความทรงจำของผมที่นำมาเขียนในเรื่องนี้ก็น่าจะประมาณปี 2515 ซึ่งเริ่มรับรู้และเข้าใจความหมายเรื่องราวต่างๆของพวกผู้ใหญ่ได้บ้าง ซึ่งจริงแล้วสังคมสมัยก่อนเข้าใจได้ง่าย ไม่สลับซับซ้อน ชอบใจก็พยักหน้าให้กัน ยิ้มให้กัน พูดคุยกัน เคารพกันก็ยกมือไหว้กัน ซึ่งน้อยมากๆ สำหรับคนที่จะถูกยกมือไหว้ เพราะนั่นต้องหมายถึงคนๆนั้นเป็นคนดีจริงๆ โอบอ้อมอารีย์ ช่วยคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน คือต้องคนดีจริงๆแหละ ส่วนถ้าไม่ชอบหน้ากันก็จะพยายามหลีกเลี่ยงกัน หลบกันไปสักฝ่าย เพราะการเผชิญหน้ากันนั่นหมายถึงการตีรันฟันแทงจะต้องตามมาแน่ๆ ซึ่งนั่นเองที่เป็นที่มาของอาณาเขตของแต่ละที่ ที่ๆไม่สมควรไป ไม่สมควรเดินผ่านด้วยประการทั้งปวง เพราะการปรากฏตัวในอาณาเขตใดอาณาเขตหนึ่งที่ไม่ใช่ของตัวเองนั่นคือ การท้าทาย การลูบคม ซึ่งถ้าจะนิยามให้เป็นปัจจุบันนี้ก็คือ ร่างกายต้องการการปะทะ

ในเขตเมืองหรือที่เรียกว่าเขตตลาดนั้น มีย่านมากมายที่เป็นที่กล่าวขานกันจนติดปาก บ้างก็เป็นแหล่งการค้า เป็นตลาด เป็นชุมชน และบางที่ก็เป็นทุกอย่างแถมพ่วงเข้าด้วยคำว่า..ดงนักเลง….ผมจะไล่เรียงให้ฟังเท่าทีจำได้นะครับ…

ท่าเรือจ้างหรือตลาดล่าง

ก่อนที่ผมจะลงมือเขียนเรื่องราวนี้ ผมได้ไปค้นหารูปภาพด้วยคำค้นหาว่า”ท่าเรือจ้างตลาดล่างเมืองจันท์”เผื่อจะเจอรูปสมัยก่อนๆจะได้นำมาประกอบเรื่องราว มันจะได้ดูน่าอ่านขึ้น แต่ไม่พบภาพที่ต้องการ แต่กลับพบภาพที่ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจ นั่นคือภาพชุมชนท่าเรือจ้างจันทบุรี แล้วก็มีบทความประกอบเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเมืองจันท์ …..ถึงตรงนี้ก่อนที่ผมจะเขียนอะไรต่อไปขอบอกก่อนนะครับว่าไม่ได้มีเจตนาจะดิสเครดิต หรืออะไรก็ตามที่เป็นไปในทางลบ ผมจะเขียนจะเล่าในยุคนั้นนะครับ กลับมาต่อกันดีกว่า ภาพและบทความที่ผมได้เห็นถึงกับทำให้ผมต้องเฮ้ย!ออกมา อ้าวท่าเรือจ้างบ้านฉันไหงย้ายข้ามไปอีกฝั่งคลองแล้วละ ในบทความที่ผมเจอนั้น ผมก็ไม่ได้สืบค้นต่อว่าทำไมชุมชนตรงนั้นที่เดินเข้าซอยเล็กๆข้างวัดโรมัน(ชื่อเต็มเมื่อก่อนคือวัดโรมันคาทอลิค ปัจจุบันเรียกโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล)ถึงได้กลายเป็นชุมชนบ้านท่าเรือจ้างไปแล้ว ถ้าจะว่าชุมชนตรงนั้นมีเรือเยอะผมก็ไม่เถียงแต่มันเป็นเรือที่เอาไว้ใช้ส่วนตัว ไว้หาปลาในคลองไม่ได้เอารับจ้างแต่ประการใดเลย  ท่าเรือจ้างจริงนั้นคือส่วนที่เราเรียกกว่าตลาดล่าง เพราะตรงนั้นมีท่าเรือสำหรับข้ามฟาก2ท่า นั่นคือท่าเรือหน้าวัดที่ข้ามไปวัดโรมัน ยุคนั้นจะมีครูหวัด(แกน่าจะชื่อสวัสดิ์มั้ง)เป็นคนแจว แกใจดีมาก พูดจาช้าๆสุภาพมาก ใครไม่มีตังค์แกก็ไม่เอา เด็กก็ข้ามฟรี แล้วดูเหมือนว่าแกได้ตังค์มาแกก็ให้วัดส่วนนึงอีกต่างหาก(อันนี้ผู้ใหญ่เขาเล่าให้ฟัง) กับอีกท่านึงคือท่าศาลา ซึ่งอยู่สุดสายปลายถนนสุขาภิบาล คนที่อื่นเรียกท่าเรือข้ามฟากนี้ว่า ท่าศาลา แต่คนแถวนั้นเรียก ท่าตาโท ตรงนี้ยังไม่ขยายความเก็บไว้เล่าตอนอื่นดีกว่า เพราะนี่ก็ยืดยาวยังไม่ไปไหนเลย แต่ก็ต้องท้าวความนั่นแหละไม่งั้นจะเข้าใจกันผิด ระหว่างท่าเรือจ้างในอดีตกับท่าเรือจ้างในปัจจุบันเน๊าะ   

    ถ้าจะปักหมุดในที่ๆเรียกว่าท่าเรือจ้างหรือตลาดล่างนั้น คงต้องนับตั้งแต่ปากทางสามแยกซอยกระจ่าง(ตรอกกระจ่าง) แล้วเดินตรงขึ้นไปจนถึงประมาณร้านหมอหุน(ร้านขายยาไทยแผนโบราณ)หรืออาจจะเลยไปอีกสักสี่ห้าห้องก็ได้ เพราะถ้าเลยจากนั้นแล้วเราก็มักเรียกเด็กแถวนั้นว่า เด็กศาลเจ้าที่ ตลาดล่างนอกจากบ้านเรือนที่เรียงรายเป็นเส้นตรงแล้ว ก็ยังประกอบไปด้วยซอยเล็กๆและตัน เริ่มต้นที่หัวถนนขวามือคือซอยบ้านตาอ๋า(แล้วต่อมาก็มีคนเอาสีไปพ่น ตั้งชื่อซอยว่า ซอยข้าวเหนียวติด_ีอันนี้เรื่องจริง) ปากซอยคือบ้านตาโชป้าม่วย บ้านเจ๊กเซีย(ต้องขออภัยนะครับ ที่ใช้คำว่า..เจ๊ก..ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่เหยียดหยามใดๆนะครับ เพราะคนแถวนั้นเรียกกันแบบนี้ครับ และยังจะมีอีกหลายๆท่านครับผม)  บ้านลุงฟลุ๊คลุงสุย บ้านป้าดวน บ้าน…แล้วก็จะเป็นซอยร้านโอชา ตามชื่อร้านกาแฟปากทาง จากร้านโอชาก็จะเป็นร้านลุงออง บ้านป้าจุไรภรณ์ แล้วก็เป็นท่าวัด(โรมัน) บ้านหัวมุมผมไม่เคยรู้จักชื่อ แกดูไม่ค่อยเป็นมิตรกับเด็กๆสักเท่าไหร่ ติดกันก็จะเป็นบ้านเจ๊กราดหน้า  บ้านครูประจำ แล้วก็ตึกครึ่งไม้สองชั้นก่อนที่ตาโอ๊ยจะมาอยู่จำไม่ได้ว่าทำอะไร แล้วก็จะเป็นตึกสีเหลืองของป้าไต๊ขายขนมไข่ ตรงนี้จะมีซอยคั่น(ถ้าเดินเข้าไปก็จะเจอบ้านเจ๊กกระเพาะปลา) ปากตรอกก็จะเป็นร้านขายของชำ ของแห้งสารพัดอย่างชื่อร้านเจ๊กข้าวสาร แล้วก็เป็นบ้านที่ทำพริกไทย ร้านขายของชำชื่อเจ้….จริงๆแกเอ็นดูผมนะแต่ผมดันทะลึ่งลืมชื่อแก.(นึกออกแล้วแกชื่อเจ้จุก..5 กค.64) แล้วก็จะเป็นบ้านหมอหุนสามห้อง บ้านเจ๊หมวยเช็ง จากนั้นถ้าเดินตรงไปอีกสักสามสิบเมตร(มั๊ง)ก็จะถึงศาลเจ้าที่ ส่วนฝั่งซ้ายถ้าเริ่มจากปากซอยกระจ่าง ก็จะเป็นบ้านหมอเสริฐ-ป้าตุ๊ บ้านลุงแฮด-ป้าสร บ้านคุณป้าละมัย (มีตรอกทางเดินเล็กเดินไปหลังบ้านยายลีได้) บ้านยายลี แล้วก็จะเป็นโรงกลึงคล้ายๆบ้านเจ๊กเซียนึกชื่อไม่ออก แล้วก็เป็นที่เก็บมะพร้าวของเจ๊กมั๊ว (ตรงนี้มีตรอกเล็กๆเดินเข้าไปมีบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านเหียเหมี่ยวแต่พ่อเขาชื่ออะไรจำไม่ได้) แล้วก็เป็นเจ๊กมั๊ว บ้านครูเช็ง จริงๆไม่น่าใช่บ้านครูเช็งแต่เป็นบ้านพี่ชายแกมั้ง แกเสียตั้งแต่อายุประมาณหลักสี่มั๊ง แล้วก็จะเป็นบ้านยายแจ๋วซึ่งแกน่าสงสารมาก ตัวแกเล็กนิดเดียว มีลูกชายเป็นศุลการักษ์แต่เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ทำงานได้ไม่เท่าไหร่ แล้วต้องนอนติดเตียง แกก็ดูของแก หาบกล้วยไข่ขายไป ถัดมาก็จะเป็นตึกสองห้องของเจ๊ซาสี่ ที่นี่จะเป็นที่ๆผลิตไข่เยี่ยวม้าส่งขาย คั่นด้วยตรอก(ซึ่งเดินทะลุออกไปสู่ถนนใหญ่คือถนนตรีรัตน์ได้ จากปากซอยมองเข้าไปสุดซอยจะเห็นบ้านเจ้กิมลี้อยู่สุดสะพานไม้) แล้วก็จะเป็นเจ๊สำรวยเจ้าของโรงไม้  บ้านเจ๊กบักไฮ้ คั่นด้วยซอยเล็กๆต่อมาเป็นอาคารพาณิชย์ประมาณสิบกว่าห้อง แล้วก็จะเป็นบ้านใครสักคนนี่แหละที่ปลูกลึกเข้าไปเหมือนอยู่ในสวน แล้วก็เป็นตึกเก่าๆสามห้องมั๊งตรงข้ามร้านหมอหุน แล้วก็มีซอยคั่น(ซอยนี้เดินไปตามสะพานไม้จะไปทะลุตลาดชัยศิริตรงที่มีโรงพิมพ์ได้) เป็นห้องหนึ่งห้องแล้วก็จะเป็นบ้านเหียวิชัย ซ่อมจักรยาน(แกหล่อมาก หุ่นดี แต่เมียแกน่าสงสารชอบเป็นลมชัก) แล้วก็ห้องติดกันสองห้อง น่าจะเป็นบ้านเฮียเก๊าที่แกชอบเล่นแอคคอร์เดียนตอนเย็นๆ แล้วก็เป็นบ้านลุงจำแลง อีกนิดนึงก็จะเป็นศาลเจ้าที่  

……ตลาดล่าง(ผมขอใช้คำนี้พอนะครับ) นี่ไม่ใช่ที่ๆใครนึกอยากจะมาก็มาได้นะครับ เพราะนอกจากของกินที่อัดแน่นที่นี่แล้วตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงสามทุ่ม ที่นี่คือดงนักเลง ดงนักพนัน ที่ขึ้นชื่อมากๆ นักเลงที่นี่เดิมทีก็จะเป็นคนที่อยู่อาศัยที่นี่เป็นหลักเป็นแหล่ง ต่อมาก็จะมีมาจากที่อื่นมาอยู่ประจำบ้าง ไปกลับบ้าง ส่วนการพนันนั้นไม่ต้องพูดถึง มีทุกชนิด ไพ่ไฮโลถ้วย ไฮโลกล่องไม้ขีด ถั่ว น้ำเต้าปูปลา ทายแบ้งค์ เล็บตุ่ย แทงเบอร์ หยอดหลุม ทอยบ้อ โยนเส้น ล้อต๊อก เขียนถึงตรงนี้แล้ว ผมว่าน่าจะเขียนถึงการพนันสมัยนั้นด้วยเน๊าะ เชือว่าที่พูดมานี่ถ้ามีคนมาอ่านก็คงจะไม่เข้าใจในหลายๆชื่อของการพนันสมันนั้น นอกจากดงนักเลง ดงนักพนันแล้ว ที่นี่ก็ยังมีผู้หญิงขายบริการด้วย แต่มักจะเป็นคนที่อื่นมาใช้บริการมากกว่า แค่นี้ก็ยังไม่หมดนะเพราะที่นี่ยังเป็นดงกัญชาอีกด้วย สมัยก่อนไม่นิยมใส่บุหรี่สูบ แต่จะดูดจากบ้องมากกว่า คนที่ทำบ้องกัญชาเก่งน่าจะเป็นเหียภุชงค์ และที่ๆมักจะเป็นที่รวมพลก็คือข้างบ้่านตาอ๋า กับ ตรอกโอชา พูดถึงคนสูบกัญชาสมัยก่อนผมว่าพวกเขาเป็นคนดีและน่ารักมากๆ เพราะแม้ว่าเขาจะนั่งสูบกันในที่โล่งแจ้งท้ายซอยซึ่งมิดชิดจากสายตาคนหน้าถนน แต่ไม่ได้มิดชิดสำหรับคนเป็นเจ้าบ้านและพวกเด็กๆ เมื่อใดก็ตามที่มีเด็กเดินผ่าน พวกเขาจะรีบบอกให้รีบไป ไม่ให้หยุดดู คำเรียกเด็กๆก็มักใช้คำว่า น้อง….นำหน้าเสมอ เขาจะไม่ดุ ไม่ใช้สำเนียงเสียงดังหรือตะคอก ที่สำคัญพวกเขาไม่เคยบอกไม่เคยสอนว่า ..มันไม่ดี โตขึ้นอย่าทำ อย่าเอาเยี่ยงอย่างนะ….แต่  จะไม่มีเด็กคนไหนได้นั่งในวงกัญชาพอๆกับจะไม่มีคนแปลกหน้าในวงกัญชาเด็ดขาด คนพวกนี้ไม่ยอม ไม่ยอมแม้กระทั่งจะให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาเด็ดขาดเช่นพวกผงขาว ซึ่งแม้จะหายากมากๆในสมัยก่อนก็ตาม สมัยก่อนคนที่จะติดสิ่งเสพติดนั้นต้องเดินเข้าไปหามัน แต่สมัยนี้มันเดินเข้ามาหาเราเอง เด็กสมัยก่อนหาที่สูบบุหรี่น้อยมาก แต่สมัยนี้หาที่ไม่สูบกลับยากกว่า 

  ซอยกระจ่าง

เมื่อพูดถึงท่าเรือจ้าง ชุมชนและผู้คนที่อยู่ร่วมใช้ชีวิตด้วยกันนั้นคงหนีไม่พ้นชุมชนประชาชนชาวซอยกระจ่างเป็นแน่แท้ เมื่อเรายืนอยู่ตรงสามแยกตลาดล่าง ซ้ายมือคือท่าตาโท ขวามือคือตลาดล่าง ตรงหน้าเรานั่นที่มีถนนทอดยาวไปนั่นแหละ เราเรียกซอยกระจ่าง ปากทางซอยกระจ่างด้านขวาเป็นทั้งบ้านและคลีนิคของหมอเสริฐ แกเป็นหมอฟัน สมัยนั้นคลีนิคหมอฟันที่คนรู้จักกันดี ก็คือหมอเสริฐตลาดล่าง กับร้านเม่งฮงทำฟัน ที่อยู่แถวเฉลิมจันท์ ซ้ายมือเป็นบ้านของนายบุญเที่ยง สิทธิบุตร แกเป็นทั้งทนายและนักการเมืองท้องถิ่น ถัดเข้ามาซ้ายมือจะเป็นร้านอาหารตามสั่งคือร้านลุงเช็ง แกมีเมียและพวกลูกๆเป็นผู้ช่วย ลูกชายแกทั้งเหียภุชงค์และเหียตี๋นี่ทีเด็ดมาก เรียกว่าใครไม่แน่จริงๆอย่าแหยม ส่วนลูกสาวเจ้หมูคนโตนั้นก็สวยมากสวยจนคนน้องคือต้อยนั้นตามไม่ทันเลยทีเดียว ฝีมือทำกับข้าวของลุงเช็งนั้นสุดยอดมากๆ แต่เมนูที่พ่อกับแม่ให้ผมซื้อประจำนั้นก็จะเป็นต้มยำกับผัดเปรี้ยวหวาน ซึ่งผัดเปรี้ยวนี่พอลุงเช็งเลิกขายผมก็ไม่เคยกินที่ไหนอีกเลย ถัดมาก็จะเป็นบ้านไม้เก่าๆสองหลัง หลังแรกเป็นของตาฮุยกับเจ้เลย แกขายตือฮวน เช้ามืดแกก็จะไปนั่งล้างเครื่องในที่ท่าน้ำซอยบ้านตาอ๋า มีครั้งนึงยังไม่สว่างดีแกนั่งล้างเครื่องในเพลินๆ พอฟ้าเริ่มสางแกเหลือบไปเ้ห็นคนตายลอยติดอยู่ข้างแก ตาฮุยนี่วิ่งไม่คิดชีวิตเลย ติดกับบ้านตาฮุยเดิมทีเป็นร้านอะไรผมจำไม่ได้ แต่ต่อมาเป็นร้านขายกาแฟ ขายของชำ ขายขนม เอาเป็นว่าแกขายสารพัดอย่างดีกว่า ติดกันจะเป็นหนึ่งในตำนานของท่าเรือจ้างหรือซอยกระจ่างก็ว่าได้ นั่นคือร้านตัดผมของลุงเษม(เกษม)เกษมบาร์เบอร์ แกตัวเตี้ย ผิวขาว ถ้าเวลานี้ถามว่านึกถึงลุงเษมแล้วนึกถึงใคร ผมตอบได้เลยว่า ผมนึกถึง PHIL COLLINS คนเดียวเลย แกใจดี พูดจาสุภาพ ค่อยๆตัดแบบคนใจเย็น แกแต่งตัวด้วยกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ตทับใน หน้าตาสะอาดสะอ้าน ไม่เคยมีเหงื่อให้เห็น ที่เท่ห์ที่สุดคือแกใส่สายรัดกางเกงที่เรียกว่าsuspender ด้วยเท่ห์สุดๆไปเลยทีเดียว ตรงข้ามร้านลุงเษม จะเป็นบ้านเจ้สาลี แกขายข้าวเหนียวมะม่วง กับขนมอะไรอีกหรือเปล่าไม่รู้ บ้านเจ้สาลีหน้าบ้านหรือเรียกว่าข้างถนนก็ได้ จะมีต้นมะม่วงอยู่ต้นนึงออกลูกดกมาก คือมะม่วงแขนอ่อน ซึ่งสมชื่อมากๆเพราะลูกนึงก็ประมาณแขนอ่อนของเด็กน้อยจริงๆ แกหวงมากใครเก็บนี่แกด่าเช็ดเลย ทั้งๆที่มะม่วงแขนอ่อนนี่เปรี้ยวชนิดมะนาวอายเลย เลยบ้านเจ้สาลีมาก็จะเป็นบ้านอยู่อาศัย แล้วก็เป็นบ้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ เครื่องยนต์ ผมไม่รู้จักเจ้าของร้านรู้แต่ลูกชายเขาชื่อประเสริฐ บริภัณฑ์ผล ปัจจุบันเป็นไต๋เรือ ชื่อไต๋หมา โด่งดังมีชื่อเลื่องลือมากๆในFACE BOOK คั่นด้วยซอยมีสะพานเล็กๆไปโผล่ทะลุตรงแถวบ้านเจ้กิมลี้ได้ ตรงข้ามซอยนี้ก็มีซอยอีกสุดซ้ายที่ท่าน้ำ วกซ้ายออกมาโผล่แถวบ้านอาจารย์แดงซึ่งก็คือท่าศาลานั่นเอง ตรงนี้จะมีบ้านใต้ถุนสูงไม่กี่ แล้วก็เป็นพงหญ้า ต่อมาก็ถากถางเป็นลานดินเอาไว้เลี้ยงไก่ ตีไก่กันก็จะเป็นพรรคพวกของเหียแมวเขา มาที่ปากซอยกันบ้านหน้าปากซอยนี่เป็นบ้านของเจ้สัมพันธ์  ผมไม่รู้ว่าแกทำอาชีพอะไร รู้แต่ว่าพอหัวค่ำก็จะเป็นวงไพ่ตอง เล่นทั้งคืนได้เสียกันยี่สิบสามสิบบาท จริงๆแล้วผมว่าเป็นการพบปะพูดคุยกันผ่านกิจกรรมไพ่ตองซะมากกว่า เลยมาก็จะเป็นบ้านตึกสองชั้นห้องริมจะเป็นร้านขายของเล่นเด็กเล็กๆ มีเบอร์ให้จับ ด้วยความที่มีซอกซอยเยอะมาก ผมเองไม่ค่อยได้เล่นแถวนี้เท่าไหร่เพราะไม่มีเพื่อนและไม่ใช่ที่ชุมนุมของเด็กสมัยนั้น แต่ซอยกระจ่างนี่จะมีบ้านพ่อค้าพลอยที่มีชื่อเสียงมากคนนึงของเมืองจันท์ นั่นคือบ้านเจ้าบุญอุ้ม คือแกไม่ได้เป็นหรือมีเชื้อเจ้าแต่อย่างใด  

สำหรับซอยกระจ่างวันไหนมีความทรงจำขึ้นมาอีก ผมจะมาเขียนต่อครับ

   ศาลเจ้าที่

ศาลเจ้าที่จะเป็นที่มีอาณาไม่มาก พื้นที่ก็ตรงบริเวณศาลเจ้าที่ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนจันท์ โดยเฉพาะชาวจีนจะนับถือและจัดให้มีงานประจำปีทุกปี ก็จะมีทิ้งกระจาดแต่บ้านผมเรียกเชี้ยวกระจาดซึ่งก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ศาลเจ้าที่เดิมทีเป็นศาลเล็กๆน่าจะประมาณสัก1.5×3เมตร ด้านหลังเป็นป่าหญ้าคา ด้านข้างเป็นห้องแถว ผู้คนแถวนี้ที่เป็นรู้จักก็จะมีเจ้ต่าย แกขายกาแฟกับของสารพัดอย่างอยู่ข้างศาล ต่อมาก็มีตำนานอาหารอีสานเกิดขึ้นข้างๆแก คือร้านลาบรสเด็ด ของแกอร่อยทุกอย่างขายได้ไม่นานก็ใส่ทองเส้นเบ้อเริ่มแล้ว เลยขึ้นมาอีกนิดนึงก็จะเป็นร้านกาแฟ แล้วก็ตำนานของบะหมี่เมืองจันท์นั่นคือแปะง้วน(เรียกถูกหรือเปล่านิ) แล้วก็เป็นร้านขายของจิปาถะ (ตรงข้ามก็จะเป็นบ้านเฮียฮวดขายล๊อตเตอรี่ ถัดบ้านเฮียฮวดไม่ไกลก็จะเป็นเหมือนบ้านแต่มีชื่อ ….ที่นี่จะรับซื้อเนื้อทุเรียนสุกที่แกะแล้ว เพื่อนำไปทำทุเรียนกวน) ถัดมาก็จะเป็นท่าแม่ผ่อง แล้วก็ตึกเก่าๆสีเหลือง เจ้าของตึกนามสกุล     กูรมะสุวรรณ เลยมาอีกนิดก็จะเป็นร้านขายมะพร้าวที่เขาเอาไปขูดทำน้ำกระทิคือบ้านของตาง่วนเช็งกับป้าเจริญพร ประมาณนี้ เพราะถัดจากนี้ไปก็ดูเหมือนดินแดนไร้ชื่อแล้ว จนกว่าจะถึงทางแยกซ้ายมือ อาณาเขตที่ถูกเรียกขานว่าศาลเจ้าที่นั้น ค่อนข้างจะมีจำกัด วงพนันถ้าจะมีก็มีแค่ร้านเจ้ต่ายซึ่งจะมาในรูปของการจับเบอร์มากกว่าอย่างอื่น ส่วนคนจริงศาลเจ้าที่นั้น โดดเด่นที่สุดก็คือเหียหนุ่ยลูกกู๋ฮง ซึ่งไม่มีใครอยากตอแยด้วยทั้งกู๋ฮงและเหียหนุ่ย  ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่ที่รู้จักชื่อ ศาลเจ้าที่ นั่นเป็นเพราะเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าที่จริงๆ ไม่ใช่ด้วยเหตุประการอื่นเลย

   ตลาดชัยศิริ

        อาณาเขตที่เรียกว่าตลาดชัยศิรินั้นก็ชัดเจนมาก นั่นคือบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตลาดชัยศิริ ซึ่งทางเข้าจะมีหลายทางมากนั่นคือ เข้าทางที่อยู่ตรงข้ามศาลเจ้าที่ด้านซ้ายเป็นตรอกเล็กๆ  หรือเลยมาอีกนิดแล้วเลี้ยวซ้ายตามถนน  เข้าทางถนนตรีรัตน์ เข้าจากทางที่มาจากซอยกระจ่าง เข้าซอยเจ้กิมลี้ เข้าซอยตรงข้ามหมอหุน เข้ามาจากทางด้านข้างโรงแรมจงสุขบุญที่อยู่หน้าถนนใหญ่ ผ่านสถานที่ในตำนานนั่นคือ หนองผักบุ้ง เดินตามสะพานไม้เก่าๆแล้วเลี้ยวขวา ซึ่งถ้าเลี้ยวซ้ายเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อยๆก็จะไปโผล่ถนนสุขาภิบาลซึ่งเลยศาลเจ้าที่มาประมาณสักห้าสิบหกสิบเมตร ใกล้ๆร้านหลีเชียง 

ตลาดชัยศิริเป็นตลาดสด แต่ก็มีอาหารแห้งขายเป็นร้านของเจ๊กข้าวสาร กับร้านอื่นๆอีกสองสามเจ้า ที่นี่เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยมากกว่าที่เป็นดงพนัน ดงนักเลง เป็นสถานที่เอนเตอร์เทนยามค่ำคืนเพราะที่นี่จะเป็นที่ฉายหนังกลางแปลง และที่เหนืออื่นใดที่ทำให้คนรู้จัก ตลาดชัยศิริ นั่นเพราะ ตรงข้าม ตลาดนั้นมีซ่องอยู่นั่นคือ หนองผักบุ้ง นั่นเอง

เฉลิมจันท์

   ผมไม่แน่ใจว่าที่ถูกคือเฉลิมจันทร์หรือเฉลิมจันท์กันแน่ แต่ยึดเอาแบบหลังแล้ว มันจะได้เป็น จันท์ เหมือนกันหมด เฉลิมจันท์ก็คืออีกอาณาเขตหนึ่งซี่งเลยจากศาลเจ้าที่มาประมาณสักร้อยกว่าเมตร เลี้ยวซ้ายเดินมาสักประมาณยี่สิบห้องจะมีทางแยกขวามือ เมื่อเข้าสู่บริเวณนั้น ขวามือคือโรงหนังเฉลิมจันท์ ซ้ายมือคือตลาดเฉลิมจันท์ ข้างหน้าคือวัดเขตร์(วัดเขตร์นาบุญญาราม เป็นวัดจีน) ตลาดเฉลิมจันท์เป็นแหล่งของกินทั้งกลางวันและกลางคืน ชื่อจริงๆของตลาดคือตลาดโภคศิริ แต่คนมักเรียกตลาดเฉลิมจันท์ ตามชื่อโรงหนังมากกว่า ที่นี่ไม่มีการพนัน ไม่มีที่มั่วสุม ไม่มีนักเลง นั่นย่อมหมายถึงดินแดนนอกเขตปกครอง กลุ่มใด ก๊วนใคร จะไปจะมาย่อมไม่เป็นไร เพียงแค่อย่าไปป๊ะกันเข้าเป็นอันใช้ได้ 

ท่าใหญ่

  เมื่อเราเดินจากศาลเจ้าที่ เจอแยกเฉลิมจันท์แล้วเราไม่เลี้ยว แต่เดินตรงขึ้นไปทางท่าหลวง เราจะเจอสามแยกที่คล้ายสี่แยก ด้วยเหตุที่ว่าถ้าเราเลี้ยวซ้าย เราก็จะเดินผ่านตลาดสดเทศบาล2 แต่หากเราเราเลี้ยวขวา แล้วเดินไปเราจะไม่พบกับอะไรเลยนอกจากคลองและท่าเรือ ที่เรียกว่าท่าใหญ่ และตรงนี้กับว่าเป็นอีกอาณาเขตหนึ่งที่เป็นย่านการค้าย่อมๆ เป็นจุดการพนันเล็กๆ และก็เป็นที่มีคนจริงอยู่ด้วย ซ้ายมือหัวมุมตรงทางแยกนั้นจะเป็นที่ซ่องสุมของผู้คนทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นร้านกาแฟไม่ใหญ่ไม่เล็ก พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของร้านโอชา คอกาแฟที่นี่ก็มีหลากหลาย เพราะถึงแม้จะเป็นถิ่นนักเลง แต่ก็ยังไม่เฮี้ยนเท่าพวกตลาดล่าง พอพระอาทิตย์ตกดินผู้คนก็เริ่มเยอะขึ้นอีก เพราะร้านกาแฟจะกลายเป็นที่ออกหวยจับยี่กี โดยมีตาบ่องเป็นโต้โผใหญ่ ที่นี่ไม่เคยมีข่าวเรื่องโกงกันหรือทะเลาะกันเลย ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง หวยจับยี่กีก็จะออกเป็นรอบๆ รอบละประมาณยี่สิบนาทีได้มั้ง พวกลูกค้าก็จะมีทั้งคนที่ร้านกาแฟ พวกแม่บ้านตลาดล่างและซอยกระจ่าง ย่านท่าใหญ่จะเป็นย่านการค้าที่หลากหลาย มีทั้งพวกเครื่องมือการเกษตร แห อวน สารพัดอย่าง เช่นร้านเจ้จันทร์ ร้านเจ้ทิพซึ่งมีน้องชายหล่อมากเหมือนดาราหนังจีนชื่อเหียกิม ทั้งสองร้านเป็นร้านใหญ่ระดับสี่ถึงหกห้องกันเลยทีเดียว ก่อนที่จะถูกไฟไหม้ยกย่านท่าใหญ่ในปี 2533 นอกนั้นก็จะมีร้านเย็บเสื้อผ้าฝีมือดีคือเจ้ดุ่ยแกฝีมือดี ใจดี พูดจาดี  ร้านแกอยู่ปากตรอกที่จะเดินไปทะลุวัดเขตร์ได้ ในตรอกนี้ที่ขึ้นชื่อก็น่าจะเป็นร้านย้อมผ้า ซึ่งสมัยนั้นใช้มะเกลือแทนสีดำ ต้มน้ำด้วยฟืนแล้วเอาปี๊บเก่าที่ใส่น้ำมันหมูใส่น้ำสำหรับย้อม กับบุคคลประจำตรอกนี้เป็นตำรวจที่คนรู้จักกันทั้งจันทบุรี นั่นคือจ่าหงวน (สงวน สุวจสุวรรณ)  ถัดจากร้านเจ้ดุ่ยมาก็จะเป็นร้านขายของเด็กเล่น พวกหนังสติ๊ก ดินน้ำมัน ไม้ซาง ลูกแก้ว ลูกหิน เรือสังกะสี ปืนแก๊ป สารพัดอย่าง ร้านขวามือผมเรียกร้านอาปั๊ก ส่วนร้านฝั่งตรงข้ามที่ติดกับร้านกาแฟผมไม่รู้จักชื่อเพราะไม่ค่อยได้ใช้บริการ ตรงหัวมุมสามแยกด้านขวามือเป็นร้านขายของเล่นเหมือนกัน แต่จะเป็นอีกแนวนึง ออกแนวห่วงยางเล่นน้ำ ตุ๊กตา อะไรประมาณนี้ ผมไม่รู้จักชื่อร้าน รู้จักแต่ลูกสาวเขาชื่อศิริภา หน้าจีนๆ ผอมๆ สูงๆหุ่นนางแบบเลยหละ(ตรงนี้ขอแสดงความเสียใจ ที่ผมเพิ่งได้ทราบข่าวมาเมื่อประมาณต้นปีว่า คุณศิริภาได้เสียชีวิตแล้ว ขอวิญญาณของเธอจงสถิตย์ในภพภูมิที่ดีสูงๆขึ้นตลอดกาล) เลยจากร้านของศิริภามา ก็จะเป็นหนึ่งในตำนานของเมืองจันท์ คนจริงของย่านท่าใหญ่และทุกๆย่าน นั่นคือร้านขายเครื่องเขียนระดับสามห้องของ ย่าม่วย ชื่อร้านจิตธาดา ย่าม่วยเคี้ยวหมาก พูดจาเสียงดังโผงผาง ตรงไปตรงมา ที่สำคัญย่าม่วยใจนักเลงมาก ชอบช่วยคน ผมมานึกขึ้นได้ก็ตอนโตว่า เราไม่ค่อยเจอหญิงไทยแท้ ที่มีนิสัยแบบนี้  ผมว่าหายากนะ ถัดจากร้านย่าม่วยไปก็จะเป็นบ้านที่ทำพลอยซะเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นที่เลยบ้านย่าม่วยมาประมาณสักสามสิบเมตร ฝั่งซ้ายมือเราจะเห็นเป็นเวิ้งและมีประตูบ้านใหญ่และแปลกกว่าทุกบ้าน นี่คือบ้านของยายกิมอี้(นี่เป็นคำเรียกของคนตั้งแต่ตลาดล่างยันท่าหลวงนะครับ) อภิมหาเศรษฐีของเมืองจันท์ แกใช้รถเบ้นซ์ มีที่ดินมากมาย มีห้องแถวและบ้านให้เช่ามากมาย จึงทำให้ใครๆก็รู้จักแกครับ………………….ย่านท่าใหญ่ยังมีร้านค้ายางพาราแผ่นอีกด้วยซึ่งอยู่ตรงข้ามร้านขายกาแฟ  ซึ่งน่าจะเป็นเพียงร้านเดียวในย่านนี้ เพราะร้านที่เหลือน่าจะอยู่ย่านท่าหลวง ความสำคัญอย่างนึงของย่านนี้ คือเมื่อเลยทางเข้าตรงสามแยกที่จะไปตลาดสดเทศบาล2 ได้นั้น จะมีทางเล็กๆทางขวามือ มองไปจะเห็นเป็นบันไดหิน เหมือนศิลาแลง ซึ่งเป็นทางขึ้นศาลเจ้าเจ๊กโก๊(ต้องขออภัยนะครับผมไม่รู้ชื่อจริงๆว่าชื่ออะไรได้แต่เรียกชื่อนี้มาโดยตลอด)เป็นศาลเจ้าจีน ไม่ใหญ่มากแต่ลึก ทอดตัวไปตามถนนลูกรังเล็กๆ ซึ่งเมื่อเดินไปสุดถนน จะพบสี่แยก เลี้ยวขวาก็จะลงเนินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรม……….. เลี้ยวซ้ายไปก็จะเจอโรงแรมเกษมศานต์อยู่ทางซ้ายมือและโรงเรียนอำนวยวิทย์เก่าอยู่ขวามือ แต่ถ้าตรงไปก็จะเจออีกสามแยกนึง มีศาลเจ้าแม่กวนอิมอยู่บนเนินด้านซ้าย ส่วนเลี้ยวลงเนินก็จะไปเจอถนนที่เลี้ยวซ้ายไปท่าหลวงและเลี้ยวขวาก็จะกลับมาสู่ท่าใหญ่ ไหนๆก็เลยมาถึงตรงนี้แล้วเราเลี้ยวซ้ายไปท่าหลวงกันดีกว่า

ท่าหลวง

อาณาเขตสุดท้ายบนถนนสายนี้ เมื่อเลยจากท่าใหญ่มาจนถึงทางเลี้ยวซ้ายที่จะขึ้นไปศาลเจ้าแม่กวนอิม นั่นหมายถึงเรากำลังเริ่มเข้าสู่อาณาเขตของท่าหลวงแล้ว ท่าหลวงจะไม่มีนักเลง ไม่มีดงพนัน มีแต่ร้านค้าและงานบริการต่าง ถ้าเทียบท่าหลวงกับท่าเรือจ้างหรือตลาดล่างแล้ว สีสันของท่าหลวงที่ขาดไปก็คือ อบายมุขทั้งหลายและสมรภูมิเลือด ส่วนการค้าขายท่าหลวงจะเป็นย่านการค้าที่มีมูลค่าสูงกว่า สมกับคำว่าท่าหลวง ซึ่งมาจากท่าน้ำที่มีการค้าขายในสมัยก่อน (ต่างจาก ท่าหลวง ของอำเภอมะขาม เพราะที่มะขามคำว่าท่าหลวงนั้นมีที่มาจากที่ตั้งของโรงเก็บภาษีของราชการ อะไรที่เป็นของราชการชาวบ้านก็จะเรียกว่า “หลวง” ทั้งหมด เช่นไฟหลวง ถนนหลวง ยกเว้นเมียหลวง ไม่ใช่ของราชการ) ท่าหลวงถ้าเริ่มต้นจากโรงแรม?????????(ติดชื่อไว้ก่อนครับเพื่อความถูกต้อง) บ้านแรกตรงปากคือบ้านเจ้ไร แกขายของจุกจิกแต่อาชีพหลักแกคือขายลอตเตอรี่ ต่อมาก็จะเป็นตึกเก่าๆสีเหลือง ดูขลังและรู้ว่าเป็นบ้านของคนมีเงิน หลังสุดท้ายทางขวามือก็จะเป็นบ้านที่มีชื่อเสียงมากๆในตอนนี้ คือ บ้านหลวงราชไมตรี ก่อนที่จะคั่นด้วยพื้นที่ว่างเป็นป่าหญ้ามีท่าน้ำ ซ้ายมือตรงข้ามป่าก็จะมีร้านขายของจุกจิก ของกิน ขนม ของเด็กเล่นบ้าน แต่ที่นี่จะมีของกินอย่างหนึ่งที่หากินที่ไหนไม่ได้ นั่นคือ ถั่วลิสงใส่ถุงมัดยางไว้เป็นถุงเล็กๆ ความพิเศษของถั่วลิสงคั่วของร้านนี้ก็คือ เปลือกถั่วจะเป็นสีดำดูเหมือนไหม้ แต่ไม่ไหม้พอเอาขยี้เปลือกออกก็จะเป็นเม็ดถั่วแบบทั่วไปที่มีสีน้ำตาล นัยว่าเป็นสูตรการคั่วถั่วของคนจีนแคะ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเป็นที่การคั่วหรือเป็นที่พันธุ์ถั่วแน่ เพราะจากการสืบค้นในช่วงนั้นได้มีการนำถั่วลิสงพันธุ์นึงเข้ามาคือถั่วลิสงพันธุ์ถั่วลิสงผิวดำ (black peanuts) หรือเรียกอีกชื่อว่า “selenium-rich black peanuts…ก็ไม่กล้าสรุปครับ  ติดกันก็จะเป็นร้านป้าไหมขายก๋วยจั๊บ รสชาติไม่แพ้ซิ้มก๋วยจั๊บของตลาดล่าง แล้วก็ถูกคั่นด้วยทางขึ้นศาลเจ้าแม่กวนอิม  ตรงนี้ผมจะไล่ฝั่งซ้ายก่อนนะครับ ถัดมาก็จะเป็นบ้านอยู่อาศัยซะมากกว่า จนถึงร้านทำไอติมตราจรวด ปัจจุบันก็ยังดำเนินกิจการอยู่ ไอติมตราจรวดสมัยก่อนก็ถือว่าเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้กับเด็กๆในวันหยุด โดยเราจะไปรับไอติมที่เป็นแท่ง ใส่กระติกคล้ายกระติกน้ำร้อนแต่มันเก็บความเย็นได้ดีมาก ทรงยาวมากน่าจะมีถึงสี่สิบเซนต์ได้มั้ง มีฝาดึงเปิดได้ เราไปรับจากร้านแล้วก็เอาไปเดินขาย ผมจำไม่ได้ว่าเขาให้ส่วนแบ่งยังไง เลยจากร้านไอติมตราจรวดมาก็สักนิดนึงก็จะเป็นร้านกาแฟความใหญ่ระดับสามหรือสี่คูหาเลย ผมว่าความใหญ่นี่พอฟัดพอเหวี่ยงกับร้านกาแฟเจ้หวีตรงสี่แยกสะพานตรีรัตน์นะ เป็นร้านของอาประคอง เลยมาก็จะเป็นร้านรับซื้อยางแผ่น ของใครไม่รู้รู็แต่ลูกสาวชื่อมยุรา แซ่จึง แล้วก็มีบ้านของสุขจิตร เดิมสมบูรณ์ ต่ออีกสี่ห้าหลัง ตรงหลังสุดท้าย(ต่อมาเป็นร้านตัดผมฝีมือดีมาก ใจดี คุยดีมากๆน่าจะชื่อช่างชายนะ)จะมีทางเดินเล็กๆเดินขึ้นไปจะเป็นเนินแล้วทะลุออกวัดโบสถ์ได้ หลุดจากทางเดินก็จะเป็นส้วมสาธารณะเล็กๆแต่ความเหม็นใหญ่มาก แล้วก็เป็นตึกชุดสีเหลืองประมาณสี่ห้องตรงนี้ก็เป็นร้านกาแฟอีกร้านนึงที่คนเยอะมาก ด้านหน้าตรงบริเวณที่ใช้ชงกาแฟก็จะมีขนมใส่โหลไว้ ต่างชนิดกันประมาณเกือบๆสิบโหลได้มั้ง ร้านนี้จะเป็นระบบพี่น้องช่วยกัน มีป้าตุ๊ ป้าน้อย เหียโน เจ้แหม่ม(ทุกคนก็รักก็เอ็นดูผมทุกคนนะ)อีกคนชื่อ……แต่เจ้แหม่มแกชอบขายลอตเตอรี่มากกว่า (จากการสอบถาม ณ 15 กค.64เหียโนกับเจ้แหม่มยังอยู่ เดี๋ยว มีค.65 จะมาสวัสดีนะครับ)ติดกับตึกชุดนี้ก็จะมีร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ชื่อร้านชัยมงคล เป็นร้านของลุงรักษ์ ต่อมาแกก็เลิกกิจการหันไปค้าขายพลอย คงเหลือให้ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ชื่อเหียเทพเป็นผู้รับช่วงกิจการต่อ(นี่ก็เป็นอีกคนนึงที่แกเอ็นดูผมมากๆ) สุดตึกก็จะเป็นทางขึ้นบันไดวัดโบสถ์ ที่ตรงนี้สมัยก่อนมีคนจีนคนนึง นั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีน ชื่อเกี้ยนหลิม แซ่จัง แกยึดอาชีพขายกาแฟอยู่ตรงนี้ จนพอมีเงินเก็บแล้วก็เลิกขายเปลี่ยนไปขายผลไม้ส่งกรุงเทพแทน จริงๆแล้วไม่มีใครรู้ว่าแกชื่อเกี้ยนหลิมหรอก แต่จะเรียกแกว่า เจ๊กโกปี๊ มากกว่า เลยจากทางขึ้นบันไดวัดโบสถ์ก็จะเป็นที่รับซื้อผลไม้(ทุเรียน เงาะ มังคุด ส้ม)ส่งกรุงเทพ แล้วก็จะเป็นที่ว่างมองขึ้นไปเหมือนหน้าผา ก่อนจะถึงเนินสถานีตำรวจ ตรงกลางเนินสมัยก่อนจะเป็นที่ตั้งของไปรษณีย์เมืองจันท์ ว่ากันว่าที่ตรงนี้เป็นที่ของรัฐบาลฝรั่งเศสจริงเท็จผมไม่รู้ รู้แต่ว่าคนสมัยก่อนบอกกันแบบนี้ ส่วนคนสมัยนี้เชื่อว่าเอามาทำสวนหย่อมดีกว่า ณ ตรงนี้ก็จะสุดเขตของท่าหลวงฝั่งซ้ายแล้ว เรามาดูอาณาเขตฝั่งขวากันบ้าง อาณาเขตของฝั่งขวาต่อจากที่ว่างที่ถัดมาจากบ้านหลวงราชไมตรี ก็จะเป็นร้านขายยาแผนโบราณสามห้อง แล้วก็เป็นห้องแถวไม้เก่าๆชั้นเดียว ฝั่งนี้ผมจำอะไรไม่ได้ รู้แต่ว่ามีบ้านทำผลไม้อยู่ช่วงตรงกลางหลังหนึ่งเป็นบ้านของเจ๊กโกปี๊ที่เป็นที่รู้จัก แกทำผลไม้ส่งกรุงเทพเหมือนกัน แต่เป็นพวกลูกๆทำกัน โดยมีหัวเรือใหญ่คือป้าโหงว หัวเรือรองคือตาอ๋า บ้านเรือนก็จะติดกันเป็นพรืดไปเลย จนสิ้นสุดตรงบ้านหลังสุดท้ายของฝั่งซ้าย แล้วก็เป็นที่ว่าง ต่อไปก็จะเป็นสะพานวัดจันทร์ ซึ่งจะมองเห็นทางแยกไปหัวแหลมได้ เมื่อข้ามถนนไปตรงทางแยกไปหัวแหลม ก็จะมีร้านข้าวแกงเล็กๆเก่าๆ แต่แกทำอร่อยมาก ถัดจากร้านข้าวแกงด้านหน้าถนน บ้านแรกเหมือนกับจะทำผลไม้หรือเป็นร้านอะไรใหญ่ๆสักร้านนึง แล้วก็จะมีตึกสร้างใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านสีปุณยรัตน์ ป้าเจ้าของร้านชื่อป้าแขก ก็สวยมาก เหมือนแขกจริงๆ พูดจาดี แล้วแกก็เอ็นดูผมมากเหมือน(พอนึกถึงตรงนี้ก็รู้สึกดีว่า อย่างน้อยเราก็มีช่วงเวลาหนึ่งที่มีแต่คนรักคนเอ็นดูเรา) ถัดมาก็จะเป็นห้องของป้าโหงวลูกสาวเจ๊กโกปี๊ที่ซื้อไว้แล้วย้ายจากที่เดิมมาอยู่ตรงนี้ ช่วงเวลานี้เจ๊กโกปี๊ปลดระวางโดยสมบูรณ์แบบแล้ว(ประมาณปี2513-2515โดยประมาณ) ส่วนอาซิ่มเมียแกก็ยึดอาชีพขายของรถเข็นที่มีของสารพัดอย่าง โดยจะเข็นขึ้นเนินโรงพักไปขายที่บริเวณศาลซึ่งอยู่ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อตากสิน หน้าค่ายทหาร ถัดจากบ้านใหม่ของป้าโหงว จะมีตรอกเล็กๆมีบ้านหลังนึง ลูกสาวชื่อหนา(ทำไมถึงรู้จักแต่บ้านที่มีลูกสาวก็ไม่รู้นิ) ปากตรอกจะเป็นร้าน ป.พิมพ์ดีด ซึ่งทั้งขาย ซ่อมและสอนพิมพ์ดีด ต่อมาเป็นบ้านอยู่อาศัยเรื่อยไปจนถึงทางแยกตรงข้ามไปรษณีย์เก่า มีลักษณะเป็นหัวโค้ง ตรงนี้จะเป็นที่ทำผลไม้ของป้าโหงว เป็นห้องสามห้องยกพื้นสูง (เลยไปจะเป็นถนนลักษณะลาดซึ่งจะไปสู่ด้านหลังเรือนจำได้) และที่นี่คือที่สุดท้ายของเจ๊กโกปี๊ที่ได้อยู่จนวินาทีสุดท้าย ในเช้าวันที่14 กุมภา2519 แกจากไปอย่างสงบในวัย 69 ปี เหลือไว้เพียงเรื่องเล่าขาน ของหนุ่มผู้มาจากโพ้นทะเลโดยเรือสำเภา และตำนานของร้านกาแฟตีนบันไดวัดโบสถ์ ที่ทุกคนเรียกขานแกว่าเจ๊กโกปี๊ 

หลังวัด

จากตลาดล่างสู่ท่าหลวง เป็นอาณาเขตติดต่อกันยาวเพียงแค่กิโลเมตรเศษๆแต่ผู้คน การค้า และเรื่องราวมีมากมายนับไม่ถ้วน ยังมีอีกหนึ่งอาณาเขตหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ หลังวัด เอ่ยชื่อหลังวัดทุกคนรู้ดีว่าคือ อาณาบริเวณของวัดโรมันคาธอลิค แดนดินฝั่งตรงข้ามกับท่าเรือจ้างที่มีคลองจันท์คั่นไว้ นับเป็นอาณาเขตที่ใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้ ผมเองก็ไม่รู้ว่ามันกินบริเวณไปถึงไหน ผู้คน บ้านเรือนเป็นของใครกันบ้าง รู้แต่ว่าการจะข้ามไปหลังวัดไม่ใช่เรื่องที่ควรจะทำหากคุณยังเป็นวัยรุ่นในสมัยนั้น หลังวัดนั้นเป็นที่ตั้งของโบสถ์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์วัดโรมัน(ชื่อเต็มคือโรมันคาธอลิคต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล หรือ อาสนวิหารพระแม่ปฏิสนธินิรมล) ผู้คนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์ เวลาจะข้ามไปสมัยก่อนก็คือนั่งเรือจ้างของครูหวัดข้ามไป ครูหวัดใจดี ใครไม่มีตังค์ก็ข้ามฟรี เด็กก็ไม่เก็บเงิน แถมเงินที่ได้แกยังเอาให้วัดอีก ถ้าจะดูฝีมือแจวเรือของแกต้องมาลองนั่งตอนน้ำหลาก ช่วงนั้นน้ำจะเต็มคลองและเชี่ยวมากๆ แกจะแจวโดยเลาะไปะเป็นฝั่งก่อนจนเลยหลังบ้านครูประจำ จากนั้นแกก็จะแจวตัดเข้ากลางคลองขึ้นไปจนได้ที่แกจะงัดหัวเรือกลับ แล้วค่อยๆคัดเรือตามน้ำจนเทียบท่า ซึ่งเป็นบันไดปูนซีเมนต์ แกสามารถเข้าเทียบท่าที่เดิมได้ตลอด ครูหวัดนับเป็นตำนานบุคคลอีกคนหนึ่งที่ยากจะลืม เมื่อเรือเทียบท่า มองไปด้านซ้ายจะเป็นป่าหญ้า มีบ้านหลังนึงเป็นบ้านของตาจิตรมีอาชีพเชือดหมูที่โรงฆ่าสัตว์ ไม่เคยมีใครไปยุ่งกับแกด้วยท่าทีที่ดูเหมือนนักเลง(แต่ไม่เคยได้ยินว่าแกมีเรื่องกับใคร) แกจะใส่กางเกงขาสั้น ใส่เสื้อเชิ้ตไม่ติดกระดุม ด้านหลังเหน็บมีดฆ่าหมู โดยที่ไม่ต้องสังเกตก็เห็นได้ชัด แล้วใครจะอยากมีเรื่องกับแกเน๊าะ ขึ้นท่าไปก็จะเห็นโบสถ์เป็นอันดับแรก ซ้ายมือก็จะมีบ้านเรือนซึ่งแต่ละหลังปลูกได้สวยและปราณีตมากๆ ด้านขวาจะมีบ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ ดูเก่าๆขลังๆ แต่เด็กอย่างผมมีแต่ความน่ากลัว เป็นบ้านของครูยงศักดิ์ซึ่งเป็นครูโรงเรียนลาซาล แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นบ้านของแกเองหรือแกเป็นผู้เช่า น่าเสียดายก็คือครูยงศักดิ์แกจากไปก่อนวัยอันควรแต่ผมจำสาเหตุไม่ได้ เลยมาก็จะมีบ้านแล้วก็จะมีซอยเล็กๆ(สะพาน)แค่รถมอเตอร์ไซค์วิ่งสวนกันได้ สะพานนี้จะทอดตัวยาวไปจนไปถึงวัดไผ่ล้อมได้ เมื่อก่อนจะเป็นไม้แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปูนไปแล้ว ตรงนี้จะเป็นชุมชนใหญ่อีกชุมชนหนึ่ง บ้านที่คนรู้จักกันดีน่าจะเป็นบ้านที่เมื่อเข้ามาจากปากทางจนถึงทางแยกซ้ายมือ บ้านนี้จะอยู่หัวมุมด้านขวา ใครเรียกบ้านนี้ว่า บ้านนายอำเภอ แต่ผมไม่รู้ว่าแกเป็นนายอำเภอหรือเปล่า แกจะแต่งตัวเนี๊ยบมาก เหมือนพระเอกในหนังคาวบอย และถ้าจำไม่ผิดเหมือนแกติดดาวตรานายอำเภอแบบในหนังด้วย ด้วยความที่แกอารมณ์ขึ้นๆลงๆ บางวันก็เอะอะโวยวายพูดคนเดียว ซึ่งในความเข้าใจของเด็กอย่างผมก็คือแกสติไม่ดีและน่ากลัว ถัดจากบ้านแกมาก็จะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ชุมชนนี้มีซอกเล็กซอกน้อยมากมาย ซึ่งผมไม่ค่อยได้มาเที่ยวเล่นสักเท่าไหร่ ออกจากซอยสะพานมาหน้าวัดกันดีกว่า เลยจากบ้านครูยงศักดิ์มา ก็จะเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อ อร่อยมาก เลยไปก็จะเจอลานดินกว้างพร้อมเครื่องเล่นมากมาย นี่น่าจะเป็นสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นมากที่สุดเลยก็ว่าได้ มีบันไดลื่น(สมัยนี้เรียกสไลเดอร์) ชิงช้า ห่วงเหล็ก ม้าโยก แล้วก็เครื่องเล่นที่เป็นตาข่ายทรงกลม หมุนได้ พวกผมเรียก ลูกโลก เพราะลักษณะมันเหมือนลูกโลก เครื่องเล่นนี้อันตรายที่สุด ถ้าเล่นแบบปกติก็ไม่เป็นไรแต่พวกเด็กๆมักจะเล่นด้วยการจับมันแล้วก็วิ่งให้มันหมุนจนได้ความเร็วแล้วก็เอาเท้าขึ้นจากพื้น บางคนก็เข้าไปนั่งข้างใน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปสรรหาวิธีการเล่นมาได้ยังไง เครื่องเล่นทั้งหมดเป็นสมบัติของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ โรงเรียนเอกชนของศาสนาคริสต์ที่มีชื่อเสียงทั้งเรื่องการเรียนการสอนและค่าเทอม ถัดมาก็จะเป็นอาณาบริเวณบ้านพักของคุณพ่อ(บาทหลวง) เลยไปนี่เหมือนกับจะเป็นที่จอดรถดับเพลิง ก่อนจะออกประตูเข้าสู่คำว่า หลังวัด อย่างสมบูรณ์แบบ ออกมาจากประตูมาถ้าเลี้ยวซ้ายก็จะมองเห็นสะพานเล็กๆซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองหนอน(ขนอน)เมื่อไปตามถนนก็จะออกสู่ถนนใหญ่ได้  แต่ถ้าเราเลี้ยวขวาก็จะเป็นถนนเล็กๆเช่นกัน วนไปชนกับทางซอยสะพานข้าง และทางนี้ก็เป็นเส้นทางไปสู่สุสานของชาวคริสต์ด้วยเช่นกัน และถ้าเรามองไปข้างหน้าเราก็จะเห็นตลาดสด เหมือนตลาดชัยศิริ ต่างที่รูปทรง ตลาดชัยศิริเหมือนสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่ตลาดหลังวัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถนนเส้นนี้จะพาเราไปเรื่อยจนจบกับถนนสุขุมวิทได้ ระหว่างทางก็จะมีทางแยกไปสู่ชุมชนอีกแห่งนึงที่เรียกว่า เกาะล้อมนีหรือเกาะล้อมชะนีนั่นเอง 

อาณาเขตของแต่ละที่แต่ละแห่งนั้น มีบ้างที่คนต่างถิ่นที่ถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็นนักเลงประจำถิ่นนั้นไม่ควรกล้ำกรายเข้าไป เพราะนั่นหมายถึงการประลองพลังจะตามมานั่นเอง แต่ก็หาใช่ว่า ถ้าพลัดถิ่นเข้าไปแล้วไปเจอนักเลงประจำถิ่นแล้วจะถาโถมเข้าหากันเลย ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ต้องถูกแซวก่อน ถ้าทนได้ เดินหนีเรื่องก็จบ  แต่ถ้าหือขึ้นมาก็ได้เรื่องได้เลือด อาณาเขตที่ขึ้นชื่อเรื่องนักเลงนั้นในเมืองก็คงมีแค่ท่าเรือจ้าง หลังวัด ส่วนซอยกระจ่าง ท่าใหญ่ หัวแหลม มีบ้างประปราย นอกตัวเมืองก็จะมีพลูยาง สามผาน กะทิง มาบไพ  โป่งแรด แต่ในความเป็นจริงแล้วของอาณาเขตของแต่ละที่นั้น มีไว้เพื่อบ่งบอกว่าใครเป็นคนแถวไหนเพียงแค่นั้นเอง การห้ำหั่นกันก็เป็นเพราะด้วยช่วงวัย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทุกคนเติบโตมีครอบครัว มีหน้าที่การงาน สิ่งต่างๆเหล่านั้นก็ถูกละลายไปด้วย แต่ก็หาใช่ว่าจะไปเหยียบย่ำ รังแก หรือลูบคมพวกเขาได้ เสือก็เสือตลอดไป แม้ในทุกวันนี้อาณาเขตต่างๆยังคงอยู่ แต่ผู้คน วิถี และสังคม ต่างกลับถูกลบเลือน บิดเบือน และแต่งแต้มสรรพสิ่งเข้าไป จนไม่เหลือเค้าของอาณาเขตและผู้คนแบบเดิมๆอีกเลย 

…………………….

……………ด้วยจิตคาระวะต่อผู้คนในทุกๆอาณาเขตที่ข้าพเจ้าได้เคยเข้าไปสัมผัส ขอกราบคารวะต่อดวงวิญญาณทุกๆดวงของผู้ที่เคยเอ็นดูข้าพเจ้า ให้ความรัก อบรมสั่งสอน ดูแล แนะแนวทางในการต่อสู้และดำเนินชีวิตให้ข้าพเจ้า………….