เมษายน 27, 2024

เมืองฉะดอทคอม>MUANGCHA.COM

โน่นนิดนี่หน่อยค่อยเป็นค่อยไป

นิทานสุภาษิตจีน ชุดที่2(ภาษิตรากผัก)

หนังสือ”ภาษิตรากผัก”นั้น เกิดจากการที่ผู้เขียน(เดิม)ได้รวบรวมความคิดของ สำนักหยู (ลัทธิขงจื้อ) และแนวทางของลัทธิเต๋า (ของเหลาจื้อ) ผนวกกับแนวทางสู่ความหลุดพ้นตามวิถีแห่งพุทธ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) นำมาผนวกเขียนเข้าด้วยกัน  ซึ่งผู้เขียนท่านนั้นคือ หงอี้หมิงในรัชสมัยของพระเจ้าหมิงเสินจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งครองราชย์อยู่ในระหว่าง ค.ศ. 1573 ถึง ค.ศ.1691 มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หวนซูเต้าหยิน
ตามคำบอกเล่าของ เถาเซียง นักโบราณคดีในตอนต้นศักราชประชาราษฏร์ ราวๆค.ศ. 1912 แจ้งว่า “พบอยู่ในหีบหนังสือของวังจิ่งหยางกงในพระราชวังโบราณกรุงปักกิ่ง แต่มิได้ลงวันเดือนปีที่เขียนไว้” หลังจากนั้น ก็ได้มีผู้ตีพิมพ์เป็นเล่มเป็นฉบับพิมพ์ที่แตกต่างกันถึง 8 ฉบับ นัยของชื่อหนังสือเล่มนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำของ วังซิ่นหมิน ปัญญาชนแห่งราชวงศ์ซ่งมาตั้งเป็นชื่อ โดยท่านได้กล่าวว่า “คนเราถ้ากินรากผักได้จะทำอะไรก็สำเร็จ” เหตุเพราะรากผักนั้นทั้งแข็ง ทั้งมีกากกระด้าง มีแต่การเคี้ยวจนแหลกเท่านั้น จึงจะสามารถซาบซึ้งในรสชาติของมัน อีกทั้งรากศัพท์ของ คำว่า”รากผัก”นั้น ก็มีความหมายถึง “ความยากจน” การที่ใช้ชื่อหนังสือนี้ว่า “ว่าด้วยรากผัก” จึงมีความหมายที่จะสื่อถึงการ “อดทนต่อชีวิตที่ลำบากยากจนได้ จึงจะสามารถได้รับความสำเร็จในชีวิต”
เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว หนังสือเล่มนี้แพร่หลายในญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิสาหกิจเพราะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวั การใช้คน การขยายตลาด การฝึกอบรมตนเอง โดยญี่ปุ่นนั้นได้มาจากประเทศจีน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้แพร่เข้าไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ในปี 1915 ชาวจีนชื่อ ซุนเชียง ได้ค้นพบหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาจีน ซึ่งมีคำอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นพิมพ์พร้อมคำอธิบาย เมื่อสามสี่ปีก่อน ก็ได้มีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นพร้อมคำอธิบาย ออกมาจำหน่ายในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 3 สำนวน ถึงแม้ญี่ปุ่นจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อหนังสือเล่มนี้แต่อย่างไร จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะพิเศษและนั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่พัฒนาตนเองโดยการนำข้อดีของประเทศอื่นๆมาใช้ โดยก่อนหน้านั้น “ตำราพิชัยสงครามซุนวู” ตำนานสามก๊ก” และ”ไซอิ๋ว” ของจีน ญี่ปุ่นก็นำมาใช้ในปริมณฑลต่างๆในประเทศตนอย่างกว้างขวาง จนได้รับผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของอนาอารยประเทศเมื่อมาถึงหนังสือ”ว่าด้วยรากผัก”หรือ”ภาษิตรากผัก” ที่ชาวญี่ปุ่นยอมรับอีกเล่มหนึ่ง คงไม่ต้องสงสัยในคุณค่าและสาระของหนังสือเล่มนี้เลยว่าอยู่ในระดับใด นักวิสาหกิจคนหนึ่งกล่าวว่า “หนังสือเกี่ยวกับธุรกิจมีเป็นพัน เป็นหมื่นเล่ม แต่พูดถึงเหตุผลพื้นฐานแล้วส่วนใหญ่จะสู้”ว่าด้วยราดผัก”ไม่ได้”
หนังสือ”ว่าด้วยรากผัก”หรือ “ภาษิตรากผัก”เป็นหนังสือคติพจน์ที่กล่าวถึงการอบรมตนเอง การบำเพ็ญตน การปฏิบัติต่อผู้อื่น โดยจะเขียนเป็นหัวข้อๆ ใช้อักษรไม่กี่สิบตัว แต่แฝงไว้ด้วยปรัชญา ข้อคิดเตือนใจ สำหรับที่นำมาเผยแพร่นี้ เป็นการแปลและเรียบเรียงโดยคุณ บุญศักดิ์ แสงระวี ซึ่งใช้ชื่อหนังสือใหม่ว่า “สายธารแห่งปัญญา” โดยที่ได้ยกเรื่องราวประกอบขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพเห็นความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ผมเองเคยผ่านตามาหลายเรื่องจากการติดตามอ่าน ข้อเขียนของ “กิเลน ประลองเชิง” ซึ่งเป็นบทความที่ผมชอบอ่าน เพราะมักจะยกนิทานมาประกอบกับเหตุบ้านการเมืองอยู่เป็นประจำ หนังสือเล่มนี้ผมยืมมาจากห้องสมุด ด้วยเหตุจูงใจจากบทความของ “กิเลน ประลองเชิง” จึงอยากที่จะหานิทานสุภาษิตมาเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่าน ได้ศึกษา โดยที่ไม่รู้เลยว่า สายธารแห่งปัญญา เล่มนี้ แท้จริงคือ “ภาษิตรากผัก” ที่ผมอยากอ่าน อยากศึกษามานาน
ผมเองไม่รู้หรอกว่า ความดีของหนังสือเล่มนี้ถูกสวงนลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะเหตุจูงใจให้ทำหาใช่ผลประโยชน์ที่ผมแสวงหา หากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ผมต้องขออภัยและยินดีที่จะลบทิ้งอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่หากไร้ซึ่งข้อกฏหมายแล้ว ผมเชื่อว่านี่คือช่องทางหนึ่งซึ่งจะทำให้”ภาษิตรากผัก”เผยแพร่ต่อไปได้อีกนานเท่านาน ซึ่งนั่นย่อมเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ผมคงต้องมอบให้ “กิเลน ประลองเชิง” ผู้จุดประกาย และ “คุณบุญศักดิ์ แสงระวี” ผู้แปลเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่า ต้องมีอีกมากมายหลายชีวิต ที่พลิกฟื้นชีวิตที่ไร้ทางออกด้วยการอ่านหนังสือที่ท่านแปลนี้ จริงๆ ผมเชื่อเช่นนั้น
ด้วยจิตคารวะ
เมืองฉะดอทคอม