หนังสือ”ภาษิตรากผัก”นั้น เกิดจากการที่ผู้เขียน(เดิม)ได้รวบรวมความคิดของ สำนักหยู (ลัทธิขงจื้อ) และแนวทางของลัทธิเต๋า (ของเหลาจื้อ) ผนวกกับแนวทางสู่ความหลุดพ้นตามวิถีแห่งพุทธ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) นำมาผนวกเขียนเข้าด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนท่านนั้นคือ หงอี้หมิงในรัชสมัยของพระเจ้าหมิงเสินจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งครองราชย์อยู่ในระหว่าง ค.ศ. 1573 ถึง ค.ศ.1691 มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หวนซูเต้าหยิน
ตามคำบอกเล่าของ เถาเซียง นักโบราณคดีในตอนต้นศักราชประชาราษฏร์ ราวๆค.ศ. 1912 แจ้งว่า “พบอยู่ในหีบหนังสือของวังจิ่งหยางกงในพระราชวังโบราณกรุงปักกิ่ง แต่มิได้ลงวันเดือนปีที่เขียนไว้” หลังจากนั้น ก็ได้มีผู้ตีพิมพ์เป็นเล่มเป็นฉบับพิมพ์ที่แตกต่างกันถึง 8 ฉบับ นัยของชื่อหนังสือเล่มนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำของ วังซิ่นหมิน ปัญญาชนแห่งราชวงศ์ซ่งมาตั้งเป็นชื่อ โดยท่านได้กล่าวว่า “คนเราถ้ากินรากผักได้จะทำอะไรก็สำเร็จ” เหตุเพราะรากผักนั้นทั้งแข็ง ทั้งมีกากกระด้าง มีแต่การเคี้ยวจนแหลกเท่านั้น จึงจะสามารถซาบซึ้งในรสชาติของมัน อีกทั้งรากศัพท์ของ คำว่า”รากผัก”นั้น ก็มีความหมายถึง “ความยากจน” การที่ใช้ชื่อหนังสือนี้ว่า “ว่าด้วยรากผัก” จึงมีความหมายที่จะสื่อถึงการ “อดทนต่อชีวิตที่ลำบากยากจนได้ จึงจะสามารถได้รับความสำเร็จในชีวิต”
เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว หนังสือเล่มนี้แพร่หลายในญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิสาหกิจเพราะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวั การใช้คน การขยายตลาด การฝึกอบรมตนเอง โดยญี่ปุ่นนั้นได้มาจากประเทศจีน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้แพร่เข้าไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ในปี 1915 ชาวจีนชื่อ ซุนเชียง ได้ค้นพบหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาจีน ซึ่งมีคำอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นพิมพ์พร้อมคำอธิบาย เมื่อสามสี่ปีก่อน ก็ได้มีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นพร้อมคำอธิบาย ออกมาจำหน่ายในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 3 สำนวน ถึงแม้ญี่ปุ่นจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อหนังสือเล่มนี้แต่อย่างไร จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะพิเศษและนั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่พัฒนาตนเองโดยการนำข้อดีของประเทศอื่นๆมาใช้ โดยก่อนหน้านั้น “ตำราพิชัยสงครามซุนวู” ตำนานสามก๊ก” และ”ไซอิ๋ว” ของจีน ญี่ปุ่นก็นำมาใช้ในปริมณฑลต่างๆในประเทศตนอย่างกว้างขวาง จนได้รับผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของอนาอารยประเทศเมื่อมาถึงหนังสือ”ว่าด้วยรากผัก”หรือ”ภาษิตรากผัก” ที่ชาวญี่ปุ่นยอมรับอีกเล่มหนึ่ง คงไม่ต้องสงสัยในคุณค่าและสาระของหนังสือเล่มนี้เลยว่าอยู่ในระดับใด นักวิสาหกิจคนหนึ่งกล่าวว่า “หนังสือเกี่ยวกับธุรกิจมีเป็นพัน เป็นหมื่นเล่ม แต่พูดถึงเหตุผลพื้นฐานแล้วส่วนใหญ่จะสู้”ว่าด้วยราดผัก”ไม่ได้”
หนังสือ”ว่าด้วยรากผัก”หรือ “ภาษิตรากผัก”เป็นหนังสือคติพจน์ที่กล่าวถึงการอบรมตนเอง การบำเพ็ญตน การปฏิบัติต่อผู้อื่น โดยจะเขียนเป็นหัวข้อๆ ใช้อักษรไม่กี่สิบตัว แต่แฝงไว้ด้วยปรัชญา ข้อคิดเตือนใจ สำหรับที่นำมาเผยแพร่นี้ เป็นการแปลและเรียบเรียงโดยคุณ บุญศักดิ์ แสงระวี ซึ่งใช้ชื่อหนังสือใหม่ว่า “สายธารแห่งปัญญา” โดยที่ได้ยกเรื่องราวประกอบขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพเห็นความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ผมเองเคยผ่านตามาหลายเรื่องจากการติดตามอ่าน ข้อเขียนของ “กิเลน ประลองเชิง” ซึ่งเป็นบทความที่ผมชอบอ่าน เพราะมักจะยกนิทานมาประกอบกับเหตุบ้านการเมืองอยู่เป็นประจำ หนังสือเล่มนี้ผมยืมมาจากห้องสมุด ด้วยเหตุจูงใจจากบทความของ “กิเลน ประลองเชิง” จึงอยากที่จะหานิทานสุภาษิตมาเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่าน ได้ศึกษา โดยที่ไม่รู้เลยว่า สายธารแห่งปัญญา เล่มนี้ แท้จริงคือ “ภาษิตรากผัก” ที่ผมอยากอ่าน อยากศึกษามานาน
ผมเองไม่รู้หรอกว่า ความดีของหนังสือเล่มนี้ถูกสวงนลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะเหตุจูงใจให้ทำหาใช่ผลประโยชน์ที่ผมแสวงหา หากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ผมต้องขออภัยและยินดีที่จะลบทิ้งอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่หากไร้ซึ่งข้อกฏหมายแล้ว ผมเชื่อว่านี่คือช่องทางหนึ่งซึ่งจะทำให้”ภาษิตรากผัก”เผยแพร่ต่อไปได้อีกนานเท่านาน ซึ่งนั่นย่อมเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ผมคงต้องมอบให้ “กิเลน ประลองเชิง” ผู้จุดประกาย และ “คุณบุญศักดิ์ แสงระวี” ผู้แปลเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่า ต้องมีอีกมากมายหลายชีวิต ที่พลิกฟื้นชีวิตที่ไร้ทางออกด้วยการอ่านหนังสือที่ท่านแปลนี้ จริงๆ ผมเชื่อเช่นนั้น
ด้วยจิตคารวะ
เมืองฉะดอทคอม