มีหมอชาวรัฐซ่งคนหนึ่ง ได้ค้นคิดยาป้องกันผิวหนังแตกขึ้นมาได้ขนานหนึ่ง ยาที่เขาคิดค้นได้นี้มีสรรพคุณดีมาก บรรดาผู้หญิงที่มีอาชีพทอผ้าหรือซักผ้า เมื่อใช้ยาชนิดนี้ทาตามมือในฤดูหนาวแล้วผิวจะไม่แตก ความข้อนี้ได้ทราบไปถึงชายผู้หนึ่ง เขาจึงรีบเดินทางไปหาผู้ปรุงยาถึงบ้าน และยื่นข้อเสนอให้
“ข้าพเจ้าจะขอซื้อยาขนานนี้ของท่านในราคาหนึ่งร้อยตำลึง ไม่ทราบว่าท่านยินดีจะขายให้หรือไม่?
หมอยาได้ยินข้อเสนอของชายแปลกหน้าก็รีบไปปรึกษาหารือกันในครอบครัว ทุกคนเห็นว่าแต่ไหนแต่ไรมา ขายยาขนานนี้ไม่ว่าจะขายดีอย่างไร ก็ได้เงินเพียงไม่กี่อัฐ แต่ชายแปลกหน้าผู้นี้กลับยื่นข้อเสนอมาให้เป็นเงินถึงร้อยตำลึง ถ้าไม่เป็นการหลอกลวงกันแล้ว นี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะได้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิต ทุกคนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ตกลงถ้าชายคนนั้นพูดจริงก็ยินดีที่จะขายให้
วันรุ่งขึ้นชายแปลกหน้าผู้นั้นก็ได้มาที่บ้านหมอยาอีก พร้อมทั้งถามคำตอบว่าจะขายยาให้ไหม? หมอยาได้ตอบว่ายินดีจะขายให้ถ้าท่านให้ราคาหนึ่งร้อยตำลึง ชายแปลกหน้าได้ยินคำตอบเช่นนั้นก็นำเงินหนึ่งร้อยตำลึงออกมาเพื่อเป็นการแสดงว่าเขาพูดจริง ก็เป็นอันว่าข้อตกลงของทั้งสองบรรลุผลเป็นที่เรียบร้อย แท้จริงแล้วชายแปลกหน้าผู้นั้น คือ แม่ทัพของแคว้นหวู่ เมื่อได้ยาแล้วก็นำไปถวายซึ่งพระราชา เมื่อได้ยาที่ต้องการแล้ว พระราชาก็รับสั่งให้แม่ทัพนายกองทุกคน จัดเตรียมทัพไว้ใหเพื่อที่จะยกไปตีเมืองเย่ เมื่อเคลื่อนทัพใกล้เมืองเย่ ก็เป็นช่วงฤดูหนาวพอดี ความที่เมืองเย่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำ การรบจึงหลีกเลี่ยงการรบทางน้ำไม่ได้ แต่ในคราวนี้บรรดาทหารทุกนายได้ใช้ยาที่แม่ทัพไปซื้อมาจากหมอยาเมืองซ่งทาตามมือ ตามเท้า ทำให้ผิวไม่แตก ดังนั้นการรบในคราวนี้ จึงไม่ได้เสียเปรียบอย่างที่ผ่านมาที่ต้องผจญกับโรคมือ โรคเท้า และผิวหนัง ชัยชนะจึงตกเป็นของแคว้นหวู่
นี่แหละครับ ของที่อยู่ในมือเราถ้าเรามองมันและตีคุณค่ามันต่ำกว่าความเป็นจริง ของสิ่งนั้นก็ดูเป็นธรรมดา แต่ถ้าเรารู้ซึ้งถึงสรรพคุณของมันแล้วนำไปหาผู้ซื้อที่ถูกต้อง มูลค่าของของนั้นย่อมเพิ่มขึ้นอย่างที่เราคาดคิดไม่ถึงทีเดียว แหละนี่ก็เป็นหลักการค้าอย่างหนึ่ง เมื่อสรรพคุณดีจริง หรือเกือบดี ก็อาศัยช่องทางการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก และที่สำคัญ ราคาต้องแพง เพราะของแพงเท่านั้นถึงจะดี