เมษายน 19, 2024

เมืองฉะดอทคอม>MUANGCHA.COM

โน่นนิดนี่หน่อยค่อยเป็นค่อยไป

ลอยอังคาร

ความหมายของคำว่า อังคาร

คำว่า “อังคาร” นั้น หมายถึง ถ่านไม้ ถ่านเผา ถ่านไฟที่กำลังปะทุอยู่
ในคำวัด หมายถึง เถ้าถ่านของศพ ที่เผาแล้ว แต่มักเข้าใจกันว่าหมายถึงอัฐิหรือกระดูกของคนตายที่เผาแล้ว และเมื่อทำพิธีเก็บอัฐิและทำบุญเสร็จแล้วนิยมรวบรวมห่อด้วยผ้าขาว ใส่โถหรือภาชนะที่ดูเหมาะสม แล้วห่อด้วยผ้าขาวนำไปทิ้งแม่น้ำหรือทะเลตอนที่มีร่องน้ำลึก โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายได้อยู่ในสถานที่เย็นๆ โดยไม่มีใครรบกวน การกระทำพิธีแบบนี้เราเรียกว่า ลอยอังคาร
พิธีการลอยอังคารนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับคตินิยมมาจากอินเดีย เหตุเพราะคนอินเดียถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระบาปได้ ด้วยเหตุนี้การเผาศพจึงชอบที่จะมาเผากันที่ริมแม่น้ำคงคากันมาก ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อจะได้นำกระดูกและเถ้าถ่านทิ้งลงแม่น้ำแห่งนี้ เพราะถ้าไม่ได้สัมผัสกับน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่หมดบาปนั่นเอง
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึงพิธีการลอยอังคาร โดยเฉพาะการลอยพระอังคารของบรรดาเจ้านายต่างๆไว้อย่างชัดเจน และสืบเนื่องมากระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พิธีการลอยอังคารนั้นน่าจะมีที่มาจากอินเดีย ก็ยังคงมีความซับซ้อนไปอีกชั้นนึง โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก เหตุเพราะถ้าเป็นคติทางพุทธแล้ว มักจะนิยมเผาศพแล้วเอาอัฐิธาตุ (กระดูก) ฝังและก่อกองดินหรือกองหินตรงที่ฝัง ซึ่งเรียกกันว่า “สถูป”
ดัง เช่นอังคาร ที่เป็นเถ้าถ่านจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า โมริยกษัตริย์ได้นำไปบรรจุไว้ในสถูปที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสักการบูชา ที่เมืองปิปผลิวัน เรียกว่า “อังคารสถูป”
ดังนั้นประเทศไทยจึงรับเอา วัฒนธรรม ประเพณีนี้มาทั้งสองทาง คือ ทั้งฮินดู และพุทธ กล่าวคือสำหรับทางพุทธ ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็จะก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ ถ้าเป็นคนชั้นล่างก็เป็นแต่เพียงฝังอัฐิธาตุหรือเอาไปกองทิ้งไว้โคนต้น ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ ก็จะเชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำตามคติทางฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคาร เปลี่ยนเป็นบรรจุเมื่อ รัชกาลที่ ๕ มานี้เอง

พิธีลอยอังคาร
ความเป็นมา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นลอยอังคารมาในสมัยใด เป็นแต่เพียงสันนิษฐานว่า พิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดีย ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู
ความมุ่งหมาย ถือคตินิยมว่า ผู้ล่วงลับไปแล้วจะมีความร่มเย็นเป็นสุข แม้เกิดในภพใด ๆ ขอให้อยู่เป็นสุข เหมือนน้ำที่มีแต่ความชุ่มเย็น

เครื่องใช้ในพิธี
สำหรับบูชาแม่ย่านางเรือ
– ดอกไม้สด ๑ กำ หรือพวงมาลัย ๑ พวง
– ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
– พานเล็ก ๑ ใบ (ใส่ดอกไม้ – ธูป – เทียน ขณะบูชาแม่ย่านางเรือ)
– เชือก ๑ เส้น (สำหรับมัดธูป – ดอกไม้ ที่เสาหัวเรือ) สำหรับบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร
– กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ กระทง
– ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
– พานโตก (ขนาดกลาง) วางกระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ ใบ สำหรับไหว้อังคารบนเรือ
– ลุ้งใส่อังคาร และผ้าขาวสำหรับห่อลุ้ง (ลุ้งคือภาชนะดินปั้น)
– พวงมาลัย ๑ พวง
– ดอกมะลิ – กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่น ๆ (สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร)
– น้ำอบไทย ๑ ขวด
– ดอกกุหลาบเท่าจำนวนผู้ร่วมพิธี
– ธูปเทียนเครื่องทองน้อย ๑ ชุด (หรือธูป ๑ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม พร้อมกระถางธูปเชิงเทียน ๑ ชุด)
– สายสิญจน์ ๑ ม้วน
– พานโตกขนาดกลาง (รองลุ้งอังคาร) ๑ ใบ
– พานก้นลึกขนาดเล็ก (ใส่ดอกไม้ต่าง ๆ) ๑ ใบ
– พานก้นตื้น (ใส่เงินเหรียญ) ๑ ใบ

ลำดับพิธี
การบูชาแม่ย่านางเรือ
– คณะญาติมิตรนำอังคารไปสู่ท่าเทียบเรือ
– พิธีกรนำประธานในพิธี (ญาติอาวุโส) ลงเรือก่อน นอกนั้นรอบนท่าเทียบเรือ
– ประธาน นำดอกไม้ ธูปเทียน (ใส่รวมในพาน จุดบูชาแม่ย่านางที่หัวเรือ)
– กล่าวบูชาและขออนุญาตแม่ย่านางเรือ โดยประธานกล่าวเองหรือพิธีกรกล่าวนำ
คำกล่าวบูชาขออนุญาตแม่ย่านางเรือ
นะมัตถุ / นวานิวาสินิยา / เทวะตายะ / อิมินา สักกาเรนะ / นาวานิวาสินิง / ทวะตัง/ ปูเชมิ.
ข้าพเจ้า / ขอน้อมไหว้บูชา / แม่ย่านางเรือ / ผู้คุ้มครองรักษาเรือลำนี้/ด้วยเครื่องสักการะ เหล่านี้
ด้วยข้าพเจ้า / พร้อมด้วยญาติมิตร / ขออนุญาตนำอัฐิและอังคารของ………. / ลงเรือลำนี้ / ไปลอยในทะเล / ให้ข้าพเจ้าและญาติมิตร / กระทำพิธีลอยอัฐิและอังคารลงเรือได้ / และได้โปรดคุ้มครองรักษา / ให้ข้าพเจ้าและญาติมิตร / กระทำพิธีลอยอัฐิและอังคาร / ด้วยความสะดวกและปลอดภัย / โดยประการทั้งปวงเทอญ
– คณะญาติมิตรนำอังคารลงเรือ
– ออกเรือไปยังจุดที่จะลอยอังคาร
ไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยลงน้ำ
– เมื่อเรือแล่นถึงจุดหมายแล้วให้หยุดเรือลอยลำ
– พิธีกรเปิดลุ้งอังคารจัดเครื่องไหว้อังคารให้ประธาน
– ประธานจุดธูปเทียนไหว้อังคาร สรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ ดอกไม้อื่น ๆ
– เมื่อทุกคนไหว้อังคารเสร็จแล้ว พิธีกรห่อลุ้งอังคารด้วยผ้าขาว ยาว – กว้าง ๑/๒ เมตร
รวบมัดด้วยสายสิญจน์ทำเป็นจุกข้างบนแล้วสอดสวมพวงมาลัย
– พิธีกรแจกดอกกุหลาบให้คณะญาติมิตร คนละ ๑ ดอก
การบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร
– พิธีกรจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร ให้ประธาน
– ประธานจุดเทียน ๑ เล่ม และธูป ๗ ดอก ที่กระทงดอกไม้ ๗ สี
– กล่าวบูชา / กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดรโดยประธานกล่าวเอง หรือพิธีกรกล่าวนำ
คำกล่าวบูชา / กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร
(ตั้งนะโม ๓ จบ)
นะมัตถุ / อิมิสสัง / มะหานะทิยา / อะธิวัตถานัง / สุรักขันตานัง / สัพพะเทวานัง / อิมินา สักกาเรนะ / สัพพะเทเว / ปูเชมะ.
ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ขอน้อมไหว้บูชา / เจ้าแม่นที / ท้าวสีทันดร / และเทพยดาทั้งหลาย / ผู้สถิตคุ้มครองรักษาอยู่ / ในทะเลนี้ / ด้วยเครื่องสักการะนี้
ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลาย / ได้ประกอบกุศลกิจ / อุทิศส่วนบุญ / แก่……………………../ ผู้วายชนม์ / และบัดนี้ / จักได้ประกอบพิธี / ลอยอัฐิและอังคาร / ของ…………………………..พร้อมกับขอฝากไว้ / ในอภิบาล / ของเจ้าแม่นที / ท้าวสีทันดร / เจ้าแม่แห่งทะเล / และเหล่าทวยเทพทั้งปวง
ขอเจ้าแม่นที / ท้าวสีทันดร / แม่ย่านางเรือ / และเทพยดาทั้งหลาย / ได้โปรดอนุโมทนา / ดลบันดาล / ให้ดวงวิญญาณ / ของ………………….. / จงเข้าถึงสุคติ / ในสัมปรายภพ / ประสบสุข / ในทิพยวิมาน / ชั่วนิรันดร์กาลเทอญ.

วิธีลอย
– เมื่อกล่าวบูชา / กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร เสร็จแล้วพิธีกรเชิญทุกคนยืนขึ้น ไว้อาลัยประมาณ ๑ นาที
– ประธานโยนเงินเหรียญ (ตามสมควร) ลงทะเล เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียม แล้วลงบันไดเรือ ทางกาบซ้าย ลอยกระทงดอกไม้ ๗ สี โดยใช้มือประคอง ค่อย ๆ วางบนผิวน้ำ ต่อจากนั้นอุ้มประคองลุ้งอังคาร ค่อย ๆ วางบนผิวน้ำ โดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือสายสิญจน์ด้วย
– หากกาบเรือสูงจากผิวน้ำมากเกินไป และไม่มีบันไดลงเรือ ให้ใช้สายสิญจน์ทำเป็นสาแหรก ๔ สาย จำนวนสาแหรก คือใส่กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ สาแหรก และใส่ห่อลุ้งอังคาร ๑ สาแหรก หย่อนลงไป (ห้ามโยนลง)
– เมื่อห่อลุ้งอังคารลงสู่ผิวน้ำแล้ว ให้โรยดอกกุหลาบ ธูปเทียน ตามลงไป และสิ่งของสำหรับไหว้บูชาที่เหลือ ทั้งหมดก็ให้โรยตามลงไปด้วย
– เรือวนซ้าย ๓ รอบ
– เสร็จพิธี

อันนี้เป็นพิธีการที่แต่ละท้องถิ่น แต่ละที่จะมีวิธีปฏิบัติคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกันนะครับ ไม่ได้ยึดถือตายตัว แล้วก็ไม่ใชเรื่องที่เราจะต้องไปวิตกกังวล เพราะว่าเจ้าของเรือที่เขารับจ้างไปลอยอังคาร เขาจะเป็นคนจัดการให้ทุกอย่างครับ ผมเองเคยไปลอยอังคารมาหลายครั้งก็ทำพิธีไม่เหมือนกัน แต่ทุกครั้งผมก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนเรือเขา เพราะผมถือว่า เขาย่อมรู้ดีกว่าเรา

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.