เมษายน 23, 2024

เมืองฉะดอทคอม>MUANGCHA.COM

โน่นนิดนี่หน่อยค่อยเป็นค่อยไป

ที่มาของชื่ออำเภอทั้งหมดในจังหวัดฉะเชิงเทรา

เดิมทีนั้นแปดริ้วบ้านเราแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 เมือง โดยอาศัยแม่น้ำบางปะกงเป็นเขตแบ่ง ได้แก่ เมืองพนมสารคาม และ เมืองฉะเชิงเทรา ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ในแผ่นดินของพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ทั้งสองเมืองอันได้แก่พนมสารคามกับฉะเชิงเทรา ก็ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัด ฉะเชิงเทรา
ในปัจจุบันนี้(2556) จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ และมีที่มาของชื่อ ดังนี้
1. อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา สันนิษฐานว่า เพี้ยนมาจากคำว่า ฉทึงเทรา หรือฉทรึงเทรา ซึ่งมาจากภาษาเขมร อันมีความหมายว่า แม่น้ำลึก คลองลึก โดยรากศัพท์นั้น คำว่าฉทึง(ฉทรึง) มีความหมายว่า แม่น้ำ ลำคลอง และคำว่า เทรา มีความหมายว่า ลึก
2. อำเภอบ้านโพธิ์ เดิมทีนั้นอำเภอบ้านโพธิ์อยู่ในเขตปกครองของอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้ถูกประกาศจัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้ใช้ชื่อว่า “อำเภอสนามจันทร์” โดยตั้งตามชื่อของหมู่บ้านสนามจันทร์อันเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอ และใช้เป็นชื่อเรียกมาโดยตลอด จวบจนปี พ.ศ. 2477 ทางราชการเห็นว่า ชื่อ สนามจันทร์ นั้นไปพ้องกับพระราชวังสนามจันทร์ที่จังหวัดนครปฐมจึงเกรงว่าจะเกิดความสับสน จึงเปลียนชื่อใหม่ จากอำเภอ สนามจันทร์เป็น อำเภอเขาดิน โดยตั้งชื่อตามวัดเขาดินซึ่งเป็นวัดเล็กๆแถบชายแดนของอำเภอซึ่งมีมาก่อน ต่อมามีการสำรวจแบ่งเขตแดน ปรากฏว่า วัดเขาดิน ไปตกอยู่กับท้องที่อำเภอบางปะกง จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งว่า “อำเภอบ้านโพธิ์” และใช้มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนที่มาของคำว่า “บ้านโพธิ์” นั้น ได้มาจาก ต้นโพธิ์ซึ่งเคยมีอยู่ที่ปากคลองบ้านโพธิ์
3. อำเภอบางคล้า บางคล้านี่ก็ไม่ต่างจาก บ้านโพธิ์ เพราะได้ชื่อมาจากต้นไม้เหมือนกัน นั่นคือ ต้นคล้า(ลำต้นและใบคล้ายต้นข่า ผิวเปลือกคล้ายหวาย คนท้องถิ่นมักมำมาสานเสื่อและกระสอบ) ซึ่งมีอยู่มากมายทั่วพื้นที่ที่นั่น
4. อำเภอพนมสารคาม รากศัพท์นั้นแปลว่า ดงยาง ถ้าจะให้แปลอีกที ก็คือ ป่าดงที่เต็มไปด้วยไม้ยางแล้วที่นั่นยังมีเขาดงยางอยู่อีกด้วย
เดิมอำเภอพนมสารคามนั้นตั้งอยู่ที่บ้านโพธิ์ใหญ่ มีอำเภอสนามชัยเขตเป็นสาขา ในสมัยแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้โปรดให้กวาดต้อนชาวลาวและชาวเขมรซึ่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ให้ไปอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในพื้นที่ที่กำหนดไว้ซึ่งก็คือพนมสารคาม
ครั้นต่อมาถึงรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีพระบรมราโชบายยกหมู่บ้านที่เป็นชุมชนหนาแน่นให้ขึ้นเป็นเมือง จึงโปรดเกล้าให้ยกบ้านท่าถ่านขึ้นเป็นเมืองพนทสารคาม มี่ศาลากลาว มีเรือนจำ และมีเจ้าปกครองเมือง ซึ่งเจ้าปกครองเมืองคนสุดท้ายได้แก่ พระพนมสารนรินทร์ หลังจากนั้นก็ได้ถูกยุบเป็นอำเภอพนมสารคาม บริเวณที่ตั้งเมืองเดิมนั้นปัจจุบันเรียกว่า ตำบลเมืองเก่า
ต่อมาในปี พ.ศ.2481 สมัยนายชวน สุริยจันทร์ เป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ทำการใหม่ มาตั้ง ณ บ้านท่าเกวียน หมู่ที่ 1 ฝั่งซ้ายของลำคลองท่าลาด ตำบลพนมสารคาม
5. อำเภอสนามชัยเขต เดิมนั้นสนามชัยเขตมีฐานะเป็นเมืองชื่อ สนามไชยเขตร มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองและขึ้นตรงต่อเมืองฉะเชิงเทรา ต่อมาในปี2474 ยุบฐานะลงเป็นตำบล ขึ้นตรงต่ออำเภอพนมสารคาม ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับการยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอสนามไชยเขตร ถัดมาในปี 2515 ได้เปลี่ยนจากชื่อ “กิ่งอำเภอสนามไชยเขตร” มาเป็น “กิ่งอำเภอสนามชัยเขต” และปีต่อมาก็ได้รับการยกฐานะเป็น “อำเภอสนามชัยเขต”
ส่วนที่มานั้น เนื่องจากพื้นที่นั้นเต็มไปด้วยป่าและคูคลอง มีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงตั้งชื่อว่า “สนามชัยเขต” ซึ่งหมายถึง “ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์”
6.อำเภอบางน้ำเปรี้ยว เดิมทีนั้นอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ตั้งอยู่ที่บ้านต้นสำโรง ตำบลบางขนาน มีหลวงพิศาลเกษตรสมบูรณ์เป็นนายอำเภอ และใช้บ้านพักเป็นที่ว่าการอำเภอ ต่อมาได้ปลูกสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.2448 ที่บ้านหมู่ที่2 ตำบลบางน้ำเปรี้ยว ต่อมาในปี พ.ศ.2497 ได้สร้างที่ว่าการอำเภอใหม่ ด้วยงบประมาณของรัฐ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของคลองแสนแสบ(คลองบางขนาก) และต่อมาในปี พ.ศ.2540 ได้สร้างที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่โดยสร้างอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเดิม
ส่วนคำว่า บางน้ำเปรี้ยว ตั้งตามความหมายของพื้นที่แถบนั้น เนื่องจากในฤดูแล้งนั้น น้ำที่นั่นจะมีรสเปรี้ยว จึงได้ชื่อว่า บางน้ำเปรี้ยว
7. อำเภอบางปะกง ที่ว่าการอำเภอบางปะกงนั้น ตั้งขึ้นครั้งแรกที่ศาลาการเปรียญวัดบนคงคาราม ตำบลบางปะกง เมื่อ พ.ศ.2450 ต่อมาในปี พ.ศ.2451 ทางราชการเห็นว่าที่ตั้งเดิมไมใช่จุดศูนย์กลางการติดต่อราชการ จึงย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอที่ริมน้ำบางปะกง หมู่ที่6 ตำบลท่าสะอ้านและใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
ส่วนที่มาของชื่อ นั้นมาจากคำว่า บองกองในภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า กุ้ง เรียกบองกองมาเรื่อยจนเพี้ยนเป็น บางกง และบางปะกง ในที่สุด
8. อำเภอแปลงยาว เดิมทีนั้นอำภอแปลงยาวอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบางคล้า ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2521 ได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ประกอบด้วยตำบล จำนวน 3 ตำบล คือตำบลแปลงยาว วังเย็น และหัวสำโรง และต่อมาในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2528 ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ โดยที่ว่าการในปัจจุบันตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น
จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ ทำให้ทราบว่าในสมัยก่อนบริเวณสำโรง แปลงยาวนั้น เป็นป่าดงทึบ การเดินทางไปตลาดบางคล้า หรือจะไปตลาดพนมนั้น ต้องอาศัยการเดินทางด้วยเกวียนและเท้า สัมภาระนั้นใช้การแบกหามเป็นหลัก หากเป็นของที่มีน้ำหนักมากก็ต้องอาศัยช่วงฤดูฝน คือใช้การเคลื่อนย้ายเป็นทางน้ำแทนทางบก ซึ่งในฤดูฝนนั้นน้ำป่าก็จะไหลบ่าลงมาเกิดเป็นคลองซอยไปเชื่อมคลองท่าลาด
ส่วนฤดูแล้งนั้นการเดินทางจากสำโรงไปบางคล้า ก็อาศัยเส้นทางถนนพระรถที่เชื่อมต่อดงน้อย ราชสานส์ พนมสารคาม สนามชัยเขต พนัสนิคม ส่วนเส้นทางจากบางคล้า แปลงยาว สำโรง ก็จะอาศัยเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตากสินที่ออกไปทะลุตำบลสระสี่เหลี่ยม (ที่นี่มีเจดีย์แบบเดียวกันกับเจดีย์ที่ปากน้ำโจ้โล้) คนโบราณเชิ่อกันว่าเส้นทางนี้ได้ถูกใช้มานานแล้ว เหตุเพราะว่า ที่หมู่บ้านปากด่าน (ปัจจุบันคือ หมู่บ้านด่านเงิน)ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใข้เดินทางไปตลาดบางคล้าหรือตลาดพนม จะมีเสาไม้ล่อนแก่น ปักอยู่กลางทุ่งโล่งและทำเป็นขั้นๆ เพื่อใช้ปีนขึ้นไปดูทางข้างหน้าให้แน่ใจว่า มีโขลงช้างป่าขวางทางอยู่หรือไม่ เสาสูงสำหรับปีนดูช้างนี้ ชาวบ้านเรียก เสาตระโงน เวลาที่จะสังเกตว่ามีโขลงช้างป่าหรือไม่ ก็จะอาศัยสังเกตจากฝูงนกแซงแซวที่บินโฉบไปมา ถ้ามีฝูงนกก็จะรู้ว่ามีโขลงช้างป่าอยู่ข้างหน้า เนื่องจากนกแซงแซวนั้นหากินอยู่กับฝูงช้าง โดยที่จะคอยบินโฉบแล้วจิกกินยุง ริ้น เหลือบ ที่เกาะอยู่ตามตัวช้าง หากพบเหตุการณ์ที่ว่านี้ก็มั่นใจได้ว่าทางข้างหน้า มีโขลงช้างแน่นอน ซึ่งก็จะต้องอดใจรอให้โขลงช้างผ่านไปก่อน หรือถ้าเร่งรีบก็ต้องอาศัยความชำนาญในการเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นที่คุ้นเคย เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอันอาจเกิดจากโขลงช้างป่า
จะขอกล่าวถึงความสำคัญของอีกตำบลหนึ่งในอำเภอแปลงยาว ก็คือตำบลวังเย็น กล่าวคือ ตำบลนี้เคยเป็นต้นน้ำลำธารที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ต่อผืนแผ่นดินมาก่อน ซึ่งรัชกาลที่5 พระองค์ท่านได้เล็งเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของต้นน้ำลำธารที่นี่ ได้ทรงโปรดให้ขุดคลองเชื่อมกันตั้งแต่วังเย็นจนถึงตลองบางไผ่ขึ้นในปี พ.ศ. 2420 อีกประการหนึ่งก็คือ วังเย็นนี้มีที่แห่งหนึ่งชื่อ “หนองพันมะคน “(คาดว่าเพี้ยนมาจากหนองพันคน แต่ผู้เขียนเองกลับคิดว่าน่าจะเป็น หนองพันหมื่นคน มากกว่า) กล่าวว่าที่ได้ชื่อแบบนี้ก็เพราะเหตุที่เมื่อครั้ง พระเจ้าตากสินเดินทัพผ่าน ณ จุดนี้ ได้เกิดการต่อสู้กับผู้ที่ไม่ยอมอ่อนข้อ เข้าร่วมด้วย จึงเกิดการรบกันขึ้น มีผู้ล้มตายเป็นอันมาก จึงได้ให้ทหารรวบรวมศพเหล่านั้นมาทิ้งกองรวมกันไว้ที่หนองน้ำแห่งนี้
ส่วนคำว่า แปลงยาว นั้น ก็เรียกขานกันตามลักษณะของการทำนาทำไร่ของที่นี่ เนื่องจากที่นี่แปลงนาแปลงไร่นั้นจะมีพื้นที่ออกไปทางยาวกว่าที่อื่น จึงเรียกกันตามลักษณะที่สังเกตได้ง่ายว่า แปลงยาว
9. อำเภอราชสาส์น เดิมอำเภอราชสาส์นนั้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพนมสารคาม ได้แยกออกมาเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 ประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ดงน้อย บางคา และเมืองใหม่ ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2537 ที่ว่าการอำเภอในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่2 ตำบลบางคา
ส่วนที่มาของอำเภอราชสาส์นนั้น อิงแอบอยู่กับนิทานพื้นบ้านเรื่อง พระรถ-เมรี โดยจับความตอนนางยักษ์แม่ของนางเมรี ได้ให้พระรถเสนนำสาส์นไปให้นางเมรีโดยกำชับว่า ห้ามเปิดดูระหว่างทาง เหตุเพราะใจความของสารข้างในนั้นมีความว่า ถ้าไปถึงกลางวันให้บริวารยักษ์จับกินในตอนกลางวัน ถ้าไปถึงตอนกลางคืนก็ให้จับกินตอนกลางคืน เมื่อถึงตำแหน่งอันเป็นที่ตั้งของอำเภอราชสาส์นในปัจจุบันนี้ พระรถเสนได้พบกับพระฤาษีที่เป็นพระอาจารย์ของตน พระฤาษีจึงชวนให้พระรถเสนพักค้างคืนอยู่ด้วย เมื่อไต่ถามถึงเรื่องราวก็ทราบเรื่องราวและปลายทางที่พระรถเสนจะเดินทางไป ครั้นตกกลางคืนเมื่อพระรถเสนหลับ พระฤาษีจึงแอบเปิดสาส์นนั้นอออกมาดู เมื่อเห็นความข้างในจึ่งรู้ว่า พระรถเสนนั้นถูกนางยักษ์หลอก จึงได้ลงมือแปลงข้อความในสาส์นนั้นเสียใหม่ว่า “ถ้ามาถึงตอนกลางก็ให้แต่งงานตอนกลางวัน ถ้าถึงตอนกลางคืนก็ให้แต่งตอนกลางคืน”
และในความเชื่อที่ว่า ณ ที่ตรงนี้คือตำแหน่งของที่พักพระฤาษีที่ใช้แปลงสาส์น เมื่อมาเป็นที่ตั้งของอำเภอ จึงใช้ชื่อว่า อำเภอราชสาส์น
10. อำเภอท่าตะเกียบ เดิมท่าตะเกียบอยู่ในความปกครองของอำเภอสนามชัยเขต ต่อมาเมื่อวันที่ 1เมษายน พ.ศ. 2534 ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ประกอบด้วย 2 ตำบล คือท่าตะเกียบ และคลองตะเกรา และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อพ.ศ. 2539
ความเป็นมานั้นเล่าว่า เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 ทางกรุงเทพ ได้คิดทำการก่อสร้างเสาชิงช้าที่บริเวณวัดสุทัศน์เทพวราราม จึงได้บอกไปยังหัวเมืองต่างๆที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ให้หาไม้แดงมาเพื่อนำไปใช้ในการทำไม้ตะเกียบเสาชิงช้าที่จะสร้างขึ้นมา ในที่สุดก็พบว่า มีไม้แดง งามเข้าคุณลักษณะอยู่ 2 ต้น ที่บริเวณห่างจากบ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้ง ประมาณ 1 กิโลเมตร จึงได้ทำการโค่นและล่องไม้แดงดังกล่าวไปตามคลองสียัด เนื่องจากไม้ทั้งสองต้นนั้นมีขนาดใหญ่มาก บริเวณที่ลากไม้ลงคลองสียัดจึงราบเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “ท่าลงไม้ตะเกียบ” และเรียกไปเรียกมาจนถูกตัดคำลงเหลือแค่ “ท่าตะเกียบ” อันเป็นที่มาของชื่ออำเภอแห่งนี้
11. อำเภอคลองเขื่อน เดิมทีนั้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบางคล้า ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ และเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2550 ด้วยความที่แม่น้ำบางปะกงไหลผ่าน และ เต็มไปด้วยคลองชลประทาน อันนำมาซึ่งอาชีพของคนในแถบนั้น จึงได้นำมาตั้งชื่อว่า “คลองเขื่อน” ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะของพื้นที่ว่ามีคลองชลประทานไหลผ่าน(มีคลองชลประทานไหลผ่านก็ย่อมมีเขื่อนกั้นน้ำตามมาด้วย)

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.